- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ออกมาแข็งแกร่งต่อเนื่อง ทำนักลงทุนหวั่นเงินเฟ้ออยู่ระดับสูงต่อเนื่อง
- มีแรงขายหุ้นทำกำไร และลดความเสี่ยง หลังหวั่นใจธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงดอกเบี้ยต่อในระดับสูง
- ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงาน-เงินเฟ้อ เริ่มไม่มั่นใจเฟดจะลดดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน มิ.ย.
การดีดตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ รวมทั้งการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน ซึ่งเพิ่มความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ นักลงทุนเทขายหุ้น หลังกังวลเกี่ยวกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ โดยมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้
เมื่อเวลาประมาณ 22.00 น.ตามเวลาประเทศไทย ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เคลื่อนไหวที่ระดับ 39,119.99 จุด ลดลง
446.86 จุด หรือ ลบ 1.13% ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เคลื่อนไหวที่ 5,188.77 จุด ลดลง 55.00 จุด หรือลดลง 1.05% ขณะที่ดัชนีแนสแด็ก คอมโพซิส อยู่ที่ 16,153.87 จุด ลดลง 242.96 จุด หรือ ลบ 1.48%
นักลงทุนเทขายหุ้นออกมาเพื่อลดความเสี่ยง หลังเริ่มให้น้ำหนักใกล้เคียงกันต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดหรือคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมิ.ย. หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง โดยวานนี้ สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) ได้เปิดเผยตัวเลขดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือนมี.ค. จากระดับ 47.8 ในเดือนก.พ. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 48.1
ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 56.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนัก 63.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 29.8% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นอกจากนี้ นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด กล่าวแสดงความเห็น หลังสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ในวันศุกร์ว่า แม้ว่าดัชนี PCE สอดคล้องกับที่เฟดคาดการณ์ไว้ แต่เฟดจะไม่รีบปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่เศรษฐกิจมีการขยายตัวที่แข็งแกร่ง และเงินเฟ้ออยู่สูงกว่าเป้าหมายของเฟด
“เราจำเป็นต้องเห็นความคืบหน้ามากขึ้นอีกเกี่ยวกับเงินเฟ้อก่อนที่จะทำการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากการตัดสินใจเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทำให้เราต้องใช้ความระมัดระวังในเรื่องนี้” นายพาวเวลกล่าว
นักลงทุนจับตาตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่จะมีการเปิดเผยในวันศุกร์ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 205,000 ตำแหน่งในเดือนมี.ค. ชะลอตัวจากระดับ 275,000 ตำแหน่งในเดือนก.พ. ขณะที่คาดว่าอัตราว่างงานทรงตัวที่ระดับ 3.9%