ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะหน่วยธุรการ เปิดรับสมัครบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 2 คน ระหว่างวันที่ 11 – 25 พ.ย.โดยผู้สมัครสามารถยื่นใบสมัครด้วยตนเอง ในเวลาราชการ ไม่เว้นวันหยุดราชการ ณ จุดรับสมัคร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ห้องศูนย์ข้อมูลข่าวสารของราชการ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา (ฝั่งวุฒิสภา) เขตดุสิต กรุงเทพฯ
สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังหมดวาระ คือ
1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ
2.นายปัญญา อุดชาชน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ซึ่งทั้งคู่จะครบวาระในวันที่ 16 และ 26 พฤศจิกายน 2567 ตามลำดับ ตามกฎหมายกำหนดว่าจะต้องสรรหาตุลาการใหม่ภายใน 120 วัน ก่อนวันที่ตุลาการครบวาระตามรัฐธรรมนูญมาตรา 204 ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด
โดยจะมีกระบวนการคัดเลือกสรรหาตุลการศาลรัฐธรรมนูญ ดังนี้
1. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี จำนวน 3 คน
2. ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน
3. คณะกรรมการสรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ จำนวน 1 คนผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์หรือรัฐประศาสนศาสตร์จำนวน 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดี หรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่าหรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีจำนวน 2 คน
4. วุฒิสภามีมติไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้ความเห็นชอบบุคคลผู้ได้รับการคัดเลือกหรือสรรหา
5. ประธานวุฒิสภานำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงแต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
6. พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ
ทางประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งตั้งประธามศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 9 คน จะประชุมและคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ โดยประธานศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีวาระการดำรงตำแหน่ง 7 ปี นับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง และดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว
คณะกรรมการสรรหา ประกอบด้วย
(1) ประธานศาลฎีกา เป็นประธานกรรมการ
(2) ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(3) ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เป็นกรรมการ
(4) ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นกรรมการ
(5) บุคคลซึ่งองค์กรอิสระแต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 201 และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 202 และไม่เคยปฏิบัติหน้าที่ใดๆ ในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ องค์กรละ 1 คน เป็นกรรมการ
ให้เลขาธิการวุฒิสภาเป็นเลขานุการของคณะกรรมการสรรหา และมีหน้าที่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการสรรหาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป และให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการสรรหา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ไม่รับคำร้องประเด็น “ทักษิณ-พรรคเพื่อไทย”