ติดยานอนหลับ ภัยเงียบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต!

ติดยานอนหลับ
ติดยานอนหลับ

ติดยานอนหลับ ภัยเงียบที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต! แพทย์โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ เปิดปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการนอน แนะการรักษาอาการติดยานอนหลับ ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์

  • ชี้การรักษาอาการ ติดยานอนหลับ
  • ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์

ปัจจุบัน หลายคนประสบปัญหาการนอนหลับยาก จากการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้เกิดความภาวะเครียด และความวิตกกังวล ซึ่งส่งผล ให้หันมาพึ่งยานอนหลับ เพื่อช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้การใช้ยานอนหลับเป็นเวลานาน จนถึงขั้นติดยานอนหลับนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อร่างกาย และสุขภาพจิตในระยะยาวด้วย

โดยเรื่องนี้ นายแพทย์ณชารินทร์ พิภพทรรศนีย์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลแบงค็อก เมนทัล เฮลท์ (BMHH – Bangkok Mental Health Hospital) ระบุว่า อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ทั้งจากพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงความเครียดในชีวิตประจำวัน หรือ อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกว่ามีโรคทางกาย หรือ จิตเวช ซ่อนอยู่ อาการของนอนไม่หลับ ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูไม่รุนแรง แต่สามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ในหลายด้าน

  • ปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการนอน

ด้านจิตใจ สภาวะความเครียดทำให้เกิดความกังวล หมดกำลังใจ อาการเหล่านี้มีผลทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ หรืออาจเกิดจากโรคที่มีผลโดยตรงกับความอารมณ์ เช่น โรคไบโพลาร์ หรือโรคซึมเศร้า เป็นต้น

ด้านร่างกาย มีอาการป่วยที่มีส่วนทำให้เกิดโรค เช่น โรคขาอยู่ไม่สุข โรคกรดไหลย้อน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคขากระตุกขณะหลับ นอกจากนี้ยังเกิดจากสภาวะของร่างกายตามอายุ เช่น การหมดประจำเดือน รวมไปถึงอาการเหนื่อยล้าจากการทำงาน เป็นต้น

ด้านอื่น ๆ เช่น ผลข้างเคียงจากใช้ยาบางชนิด การออกกำลังกายมากเกินไป การดื่มหรือทานอาหารที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการนำยาหลายกลุ่มมาใช้ช่วยให้นอนหลับ ซึ่งยาที่ใช้บ่อยมักเป็นยาในกลุ่ม Benzodiazepine โดยตัวยาจะออกฤทธิ์กดการทำงานของสมอง เพื่อช่วยคลายความกังวล และช่วยให้นอนได้ง่ายขึ้น ถึงแม้ยาในกลุ่มนี้มีประโยชน์มาก แต่หากผู้ป่วยใช้ยาไม่ถูกต้องหรือมีการใช้ขนาดสูง ติดต่อกันเป็นเวลานาน

อาจทำให้มีอาการติดยานอนหลับได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้จากการที่จำเป็นต้องใช้ยาขนาดที่สูงขึ้น เพื่อให้หลับได้ หรือ ที่เรียกว่า การดื้อยา นอกจากนี้ การที่ใช้ยานอนหลับในกลุ่มนี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจทำให้นอนได้ยากขึ้น หากไม่ได้ใช้ยา

ส่วนผลข้างเคียงจากการใช้ยานอนหลับ มีทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะสั้นจะมีอาการ ง่วงนอน อ่อนเพลีย, ปวดศีรษะ, คลื่นไส้, สับสน มึนงง, ท้องเสีย หรือ ท้องผูก, ปากแห้ง, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, การตัดสินใจช้า สมองประมวลผลช้า เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ พลัดตกหกล้ม, อาหารไม่ย่อย มีแก๊ซในกระเพาะอาหาร จุกเสียด แน่นท้อง ส่วนระยะยาว

ส่งผลต่อการทำงานของสมอง เปลี่ยนแปลงโครงสร้างการนอนหลับ จนทำให้ติดยานอนหลับ การดื้อยา รวมถึงผลข้างเคียงอื่น ๆ ได้แก่ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า,  ภาวะสมองเสื่อม โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ, สมรรถภาพทางเพศเสื่อม

ติดยานอนหลับ
ผลกระทบจากยานอนหลับ

นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับเกินขนาด อาจทำให้เกิดการกดระบบหายใจขณะหลับ จนอาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้ผู้ที่ใช้ยานอนหลับไม่ควรเลิกยานอนหลับกระทันหันหรือหักดิบ (Cold turkey) เพราะอาจทำให้เกิดมีอาการนอนไม่หลับที่รุนแรงกว่าตอนที่ยังไม่ได้ใช้ยา (Rebound insomnia) และจะทำให้เกิดอาการถอนยาได้ เช่น หงุดหงิด สับสนกระสับกระส่าย วิตกกังวล มีอาการสั่นหรือมีปัญหาระบบไหลเวียนของโลหิต เพราะฉะนั้นต้องลดขนาดยาตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

ส่วนการรักษาอาการติดยานอนหลับ ควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ เนื่องจากการเพิ่มหรือลดขนาดยานอนหลับต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้ให้การรักษา เพราะการปรับขนาดยานอนหลับจะขึ้นอยู่กับปัจจัยของแต่ละบุคคลด้วย เช่น ความเครียด พฤติกรรมกิจวัตรประจำวัน ชนิดและขนาดยาที่ใช้ 

ซึ่งการลดขนาดยาแพทย์จะทำควบคู่ไปกับการจิตบำบัด เช่น การบำบัดโดยการปรับความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy: CBT) เป็นการบำบัดจิตโดยการพูดคุยกับนักจิตบำบัด หรือจิตแพทย์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสามารถปรับพฤติกรรมการนอนหลับ และรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นได้

กลุ่มยานอนหลับ มีอะไรบ้าง?

1.กลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีน Benzodiazepines (BZD) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์แรง ที่ช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น ช่วยให้คลายกังวล และช่วยในเรื่องการเรียนรู้และความจำ โดยยากลุ่มนี้ช่วยเพิ่มระดับของสารสื่อประสาท GABA กระตุ้นให้สมองรู้สึกง่วงนอน ช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้น ทั้งยังช่วยคลายกล้ามเนื้อ คลายกังวล และเป็นยาที่ใช้รักษาโรคลมชัก

ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาอัลพราโซแลม(Alprazolam) ยาโคลนาซีแพม (Clonazepam) ยาไดอะซีแพม (Diazepam) หรือ ยาลอราซีแพม (Lorazepam) มีทั้งแบบออกฤทธิ์สั้นและออกฤทธิ์ยาว

2.กลุ่มยานอนเบนโซไดอะซิปีน Nonbenzodiazepines (Non-BZD) หรือ กลุ่มยาซีดรักส์ (Z-drugs) เป็นกลุ่มยานอนหลับออกฤทธิ์เร็ว เนื่องจากดูดซึมได้ดี โดยจะออกฤทธิ์ใน 30 นาทีหลังจากที่ได้ทานยาและออกฤทธิ์ได้นานถึง 8 ชั่วโมง

โดยจะทำให้สมองรู้สึกง่วงนอน ทำให้คลายกังวล ช่วยให้นอนหลับได้ดี และไม่ทำให้รู้สึกง่วงหรือมึนงงในตอนเช้า เป็นกลุ่มยาที่แพทย์นิยมสั่งจ่ายให้คนไข้มากที่สุด เนื่องจากเป็นยาที่มีผลข้างเคียงน้อย พบอาการดื้อยาต่ำ และไม่ทำให้เกิดอาการติดยานอนหลับ ยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ ยาโซลพิเดม (Zolpidem) ยาแอมเบียน (Ambien) หรือ ยาโซพิโคลน (Zopiclone)

3.กลุ่มยา Melatonin เป็นกลุ่มยาที่สังเคราะห์ขึ้นเพื่อเลียนแบบสารชนิดเดียวกันกับสารสื่อประสาทในสมอง ที่หลั่งออกมาตามธรรมชาติเพื่อช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยปกติ สารเมลาโทนินในสมองเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดวงจรการนอน โดยจะหลั่งออกมาในเวลาตอนกลางคืน หรือในที่ที่มีแสงสว่างน้อย

เพื่อช่วยให้ร่างกายรู้สึกง่วงหงาวหาวนอน รู้สึกผ่อนคลาย และช่วยให้รู้สึกอยากนอนหลับ โดยแพทย์นิยมสั่งยากลุ่มนี้ให้กับผู้ที่มีปัญหาในการหลับ หลับยาก ผู้ที่ทำงานไม่เป็นเวลา ทำงานเป็นกะ ผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับ เนื่องจากการหลั่งของสารเมลาโทนินตามธรรมชาติลดน้อยลงตามวัย

4.กลุ่มยา Antidepressants เป็นยากลุ่มยาต้านโรคซึมเศร้าที่ช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับ ช่วยคลายเครียด และคลายวิตกกังวลได้ดีมาก โดยเป็นกลุ่มยาที่แพทย์ใช้รักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า โรคไมเกรน โรคลำไส้แปรปรวนหรือโรคไอบีเอส (Irritable bowel syndrome: IBS)

โดยเป็นยาที่ออกฤทธิ์ต่อสารสื่อประสาทส่วนกลางช่วยให้สมองรู้สึกผ่อนคลาย คลายกังวล และช่วยให้รู้สึกง่วงนอน ขนาดของตัวยากลุ่มนี้มีตั้งแต่ 10, 25 หรือ 50 มิลลิกรัม มีทั้งรูปแบบของ ยานอนหลับแบบน้ำ และรูปแบบของยานอนหลับแบบเม็ด อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นในผู้ที่ใช้ยากลุ่มนี้ คือ อาการท้องผูก ปัสสาวะลำบาก คอแห้ง หรือปากแห้ง สมรรถภาพทางเพศลดลง และอาจทำให้น้ำหนักเพิ่ม โดยแพทย์ไม่นิยมใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ที่มีอายุน้อย หรือวัยรุ่น เนื่องจากอาจเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่รุนแรง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมอนามัย แนะหลัก 10 ประการ เพื่อสุขอนามัยที่ดีในการนอนหลับ

: ยานอนหลับ (Sleeping pills) ผลข้างเคียง การรักษา