SCB EIC ชี้เลือกตั้ง66-เปลี่ยนผ่านรัฐบาล ไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน3ไตรมาสปีนี้

Voting box and election image


  • เหตุงบปี2566 ครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ
  • มีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ -เม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง
  • ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ SCB EIC  ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการเลือกตั้งปี 2566 ระบุว่า การเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 ไตรมาสแรกของปี 2566 เนื่องจาก พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ค.ศ. 2023) จะครอบคลุมการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐจนถึงสิ้นไตรมาส 3 ของปี 2566 และทำให้หน่วยงานภาครัฐดำเนินการตามนโยบายและโครงการต่าง ๆ ที่มีการกำหนดไว้แล้วได้เป็นปกติ อีกทั้ง ยังมีการเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณและนำเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาก่อนการยุบสภา นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังได้รับแรงสนับสนุนจากเม็ดเงินในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง

ผลกระทบด้านลบจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2566จากความไม่แน่นอนของระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ2567 ส่งผลให้มีเม็ดเงินสนับสนุนเศรษฐกิจจากภาครัฐเพิ่มเติมได้ไม่มากนัก อีกทั้ง นโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลใหม่จะมีผลกระทบสู่เศรษฐกิจตั้งแต่ปี2567

เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะต้องเผชิญความไม่แน่นอนสูงจากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ โดยหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลเป็นไปได้อย่างราบรื่นจะส่งผลให้มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและเม็ดเงินงบประมาณของภาครัฐเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจปี 2567 ได้อย่างเต็มที่ ในทางตรงกันข้ามหากการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลไม่สามารถเป็นไปอย่างราบรื่นอาจส่งผลให้รัฐบาลที่ไม่มีอำนาจเต็มต้องปฏิบัติหน้าที่นานเกินสมควร อีกทั้ง ประกาศใช้ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีงบประมาณ 2567ได้อย่างล่าช้ามากจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ

SCB EIC ประเมินว่าไม่มีฉากทัศน์การจัดตั้งรัฐบาลที่มีโอกาสเกิดขึ้นสูงเกิน 50% ฉากทัศน์กรณีฝ่ายเสรีนิยมจัดตั้งรัฐบาล กรณีรัฐบาลผสมสองฝ่าย และกรณีรัฐบาลอนุรักษ์นิยมเสียงข้างน้อย ทั้ง 3 ฉากทัศน์นี้มีโอกาสเกิดขึ้นในระดับปานกลางใกล้เคียงกันมาก สำหรับอีก 2 ฉากทัศน์กรณีฝ่ายอนุรักษ์นิยมจัดตั้งรัฐบาล และกรณีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีรายชื่อมีโอกาสเกิดขึ้นอยู่บ้าง