

การรถไฟฯ ส่งมอบสมบัติแฟ้มสัญญาเช่า-พื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) กว่า 1.2 หมื่นสัญญาให้ เอสอาร์ที แอสเสท บริหารจัดการแบบเบร็จเสร็จ พร้อมรื้อราคาค่าเช่าใหม่ยกแผง หลังราคาไม่สอดคล้องราคาตลาด
หวังเพิ่มประสิทธิภาพบริหารจัดการทรัพย์สิน เกิดประโยชน์
ด้านผู้ว่า รฟท. ลั่นใน 2 ปี จะนำพื้นที่แปลงใหญ่ “สถานีกลาง-รัชดา“ เปิดประมูล มั่นใจใน 4 ปี จะสร้างรายได้ จากพื้นที่เชิงพาณิชย์เข้ารถไฟไทย กว่าปีละ 2 หมื่นล้าน และล้างขาดทุนได้
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ซึ่งเป็นบริษัทลูก รฟท. บริหารจัดการสร้างรายได้ ว่า การส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา ในพื้นที่กว่า 38,469 ไร่
และจะทยอยส่งมองสัญญาที่เหลือกว่า 500 สัญญาต่อไป เพื่อหวังเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพย์สินของการรถไฟฯ และสร้างรายได้สูงสุดให้ กับ รฟท. โดยสินทรัพย์ทั้งหมดยังคงเป็นของการรถไฟฯ 100%
นอกจากนั้น ได้ให้นโยบายกับ เอสอาร์ที ให้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างได้สูงสุด รวมถึงไปพิจารณาดูความเหมาะสมของการบริหารสัญญา ว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะต้องปรับค่าเช่าหรือค่าบริหาร ให้สอดคล้องกับราคาตลาดในปัจจุบัน
โดยหลายๆ พื้นที่ ยังเป็นราคาค่าเช่าที่ไม่สอดคล้องกับราคาตลาด ขณะที่พื้นที่ใกล้เคียงที่เอกชนให้เช่าราคาปรับไปมากแล้ว ซึ่งการปรับการบริหารสัญญาในพื้นที่เชิงพาณิชย์ รฟท.ก็มีเป้าหมายที่จะนำรายได้จากส่วนนี้ มาบริหารจัดการ และล้างขาดทุนให้กับ รฟท.ในอนาคต
ด้านนายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า การรถไฟฯ ได้ส่งมอบแฟ้มสัญญาเช่า และการบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์ (Non Core) ให้กับ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด อย่างเป็นทางการ จำนวน 12,233 สัญญา
ประกอบด้วย 1. สัญญาฝ่ายบริหารทรัพย์สิน จำนวน 5,856 สัญญา 2. สัญญาฝ่ายปฏิบัติการเดินรถ จำนวน 6,369 สัญญา และสัญญาฝ่ายอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม จำนวน 8 สัญญา บนพื้นที่กว่า 38,469 ไร่
เพื่อให้บริษัทลูกของการรถไฟฯ นำไปบริหารจัดการสัญญาเช่า โดยที่ทรัพย์สินทั้งหมดยังเป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟฯ ทั้งนี้ บริษัทต้องแบ่งผลตอบแทนให้กับการรถไฟฯ ในฐานะผู้บริหารสัญญา 5% ของรายได้จากค่าบริหารสัญญา
นอกจากนั้น รฟท. ได้ตั้งเป้าหมายว่า ภายใน 2 ปี จากนี้ รฟท. จะเร่งให้มีการเปิดประมูล เพื่อการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ใน 2 แปลงใหญ่ ประกอบด้วย พื้นที่พหลโยธิน-สถานีกลางบางซื่อ กับพื้นที่บริเวณรัชดาภิเษก
เนื่องจากทั้ง 2 พื้นที่ เป็นพื้นที่สามารถพัฒนาสร้างรายได้เชิงพาณิชย์ได้อย่างมหาศาล เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการคมนาคมขนส่งทั้งทางถนน และระบบรางเชื่อมต่อการเดินทางอย่างสะดวก
ขณะที่ เอสอาร์ที หลังจากนี้ ก็จะต้องไปพิจารณาปรับค่าเช่าในแต่ละสัญญาเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ พบว่า รฟท.มีรายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์ เฉลี่ยปีละ 3,700 ล้านบาทเท่านั้น และหากปรับการบริหารสัญญาใหม่ ก็เชื่อว่าจะสร้างรายได้ให้กับ รฟท. เพิ่มขึ้นเป็นปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท
รวมถึงหาก บริษัทลูก สร้างรายได้กว่าปีละ 4,000-5,000 ล้านบาท ก็มั่นใจว่า ภายใน 4 ปี จะสามารถสร้างรายได้เข้า รฟท. กว่าปีละ 20,000 ล้านบาท และสามารถล้างขาดทุนให้กับ รฟท. กว่าแสนล้านบาทได้แน่นอน
นายวีริศ กล่าวต่อว่า สำหรับที่ดินแปลงใหญ่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์อีก 28 แปลง ที่สามารถพัฒนาพื้นที่ และสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ นั้น เบื้องต้น SRTA ได้จัดทำแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ออกเป็น 3 ระยะ โดยในระยะแรก จะดำเนินการในปี 2568 จำนวน 7 แปลง
ประกอบด้วย 1.โครงการบางซื่อ – คลองตัน (RCA) 2.โครงการศิลาอาสน์แปลงย่อย 3.โครงการตลาดคลองสาน 4.โครงการสถานีราชปรารภ(แปลง OA) 5. โครงการถนนพหลโยธิน (หัวมุม อตก.) 6.โครงการย่านบางซื่อ(แปลง A2) สถานีขนส่ง 7.โครงการย่านสถานีหนองคาย (แปลง 5) ส่วนที่เหลือนั้น จะดำเนินการในปี 69
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา การรถไฟฯ ส่งผลการศึกษาที่ดินแปลงที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ (Non Core) จำนวน 28 แปลงดังกล่าว ให้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 65 แล้ว รวมถึงการมอบสัญญาเช่าบางส่วนให้กับบริษัท SRTA นำไปศึกษาและดำเนินการจัดทำแผน เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กันยายน 63 ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน ที่ดินของการรถไฟฯ มีทั้งหมด 246,880 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ Core Business เป็นพื้นที่ย่านสถานี ที่ทำการ เขตทางรถไฟ จำนวน 201,868 ไร่ และพื้นที่ Non-Core Business ที่สามารถนำไปทำประโยชน์ได้ จำนวน 45,012 ไร่ ซึ่งมีพื้นที่ที่มีศักยภาพเชิงพาณิชย์ สามารถนำไปพัฒนา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้จำนวน 33,761 ไร่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : การรถไฟฯ แจ้งเปลี่ยนสถานีต้นทาง-ปลายทางเดินรถสายเหนือ 12 ขบวน