การรถไฟแห่งประเทศไทย นำทีม ถก กัมพูชา 3 เรื่อง เร่งเดินหน้าแผนพัฒนาขนส่งทางรางข้ามแดน ชูขยายเศรษฐกิจ “ขนสินค้า-ท่องเที่ยว” อนาคตเติบโตระยะยาว ต่อยอดความสำเร็จอรัญประเทศ-ปอยเป็ต ขยายสู่รถไฟรางคู่ “คลองสิบเก้า-สตึงบท”
นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่าได้ต้อนรับและประชุมในหัวข้อ“Facilitation of International Railway Development” ความร่วมมือด้านการขนส่งทางรถไฟข้ามพรมแดนไทย -กัมพูชากับ H.E. Koy Sodany ปลัดกระทรวงโยธาธิการและการขนส่งกัมพูชา พร้อมคณะข้าราชการระดับสูงกัมพูชา ผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ประจำกัมพูชา ในโอกาสเดินทางมาศึกษาดูงานในประเทศไทย ทำภารกิจ 3 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1 ร่วมหารือแนวทางความร่วมมือดำเนินโครงการขนส่งสินค้าและโดยสารเชื่อมต่อระหว่างไทยและกัมพูชาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เรื่องที่ 2 แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเพื่อผลักดันเส้นทางเชื่อมโยงการขนส่งทางรถไฟ เรื่องที่ 3 แนวทางการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าทางรางผ่านชายแดนไทย -กัมพูชาให้มีความก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
ความคืบหน้าการหารือรอบใหม่ที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายสนับสนุนให้จัดตั้ง “คณะทำงานความร่วมมือในด้านระบบราง ระหว่างไทย – กัมพูชา” เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง จะช่วยส่งเสริมและอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการเดินทางและการท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศเติบโตอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตต่อไป
นายอวิรุทธ์กล่าวว่าความร่วมมือทางรถไฟไทย – กัมพูชาสร้างความสำเร็จครั้งสำคัญในโครงการก่อสร้างสะพานรถไฟมิตรภาพไทย -กัมพูชาแล้วเสร็จไปเมื่อปี 2562 เชื่อมอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ประเทศไทย กับเมืองปอยเปต จังหวัดบันเตียนเมียนเจย กัมพูชาปัจจุบันได้เชื่อมต่อที่สถานีด่านพรมแดนบ้านคลองลึก-ปอยเปต ทางฝ่ายกัมพูชามีแผนก่อสร้างสถานีระหว่างประเทศ (International Station) ที่ “สตึงบท” ส่วนฝ่ายไทยมีแผนจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสร้างรถไฟทางคู่ช่วง “คลองสิบเก้า-อรัญประเทศ” ระยะทาง 174 กิโลเมตร
ดังนั้นภาพรวมการหารือครั้งนี้ทั้งสองฝ่ายจึงมุ่งขยายผลต่อหลังจากประเทศไทยและกัมพูชาได้ลงนามความตกลงการเดินรถไฟร่วมกันไว้เมื่อ 22 เมษายน 2562 และเมื่อ 24 – 29 กรกฎาคม 2566 พร้อมทั้งทดลองขนส่งสินค้าทางรถไฟจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดไปยังกรุงพนมเปญ โดยขนส่งพลาสติกและน้ำมันเครื่อง 2 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นความสำเร็จที่จะช่วยให้การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารข้ามพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป
เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บอร์ด รฟท.ไฟเขียว ไฮสปีดเทรน เฟส 2 วงเงิน 3.4 แสนล้าน