รัฐขึงขังตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจปราบสินค้า-ธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย”

กระทรวงพาณิชย์ ปราบสินค้าไร้มาตรฐาน
รัฐขึงขังตั้ง “ศูนย์เฉพาะกิจปราบสินค้า-ธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย”


การนำเข้า สินค้า ราคาถูก ไร้มาตรฐาน ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของหลายประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับประเทศไทย และยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

เนื่องจากประเทศผู้ผลิตสินค้ายักษ์ใหญ่ เช่น จีน มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าประเทศอื่น ที่สำคัญ ทางการจีนยังให้การอุดหนุนส่งออกในหลายสินค้า เพื่อให้ตั้งราคาขายในตลาดโลกได้ต่ำกว่าผู้ผลิตหลายประเทศ อีกทั้งผู้บริโภคทั่วโลก ชื่นชอบซื้อของถูก แม้คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน

จนส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตสินค้า และภาคบริการเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ที่ไม่สามารถแข่งขันได้เลย ทำให้รัฐบาลหลายประเทศ เร่งหาทางแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

ส่วนไทย ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนในการแก้ไข แม้หลายหน่วยงานมีกฎหมายในมือที่จะใช้สกัดสินค้าเหล่านี้ได้ แต่ไม่ได้บังคับใช้อย่างเข้มงวด ส่งผลให้สินค้าราคาถูก ไร้มาตรการ ทะลักเข้าไทยจำนวนมาก

ปราบสินค้าราคาถูก
“นายภูมิธรรม เวชยชัย” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์

ล่าสุด วันที่ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพิ่งปลีกตัวจากการจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) “อิงค์ 1” ภายใต้การนำของ ..แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มานั่งประชุมเพื่อพิจารณาแนวทางแก้ปัญหาการนำเข้าและจำหน่ายสินค้าไม่ได้มาตรฐานและราคาต่ำจากประเทศ

ที่ประชุมได้กำหนดแนวทางแก้ปัญหา โดยกำชับให้ทุกหน่วยงาน บังคับใช้กฎหมายของตัวเองอย่างเข้มข้น คำนึงถึงผลประโยชน์ของผู้บริโภค ผู้ผลิตและผู้ประกอบการในทุกมิติ 

เปิดผลกระทบนำเข้าสินค้าบริการ

ในการประชุมครั้งนี้ ได้หารือกันถึงข้อเท็จจริงของปัญหาการนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ โดยพบว่า การนำเข้าดังกล่าวกระทบต่อสินค้า ภาคบริการ ภาคการผลิตของไทย โดยเฉพาะ SME ไทย ดังนี้

สินค้า ทำให้ยอดขาของ SME ไทยยลดลง เพราะถูกสินค้าต่างชาติเข้ามาแย่งส่วนบางตลาด

สินค้าที่ได้รับผลกระทบ เช่น สินค้าอุปโภคบริโภค ทั้งอาหาร/ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร/เครื่องนุ่งห่ม/เครื่องสำอาง/เฟอร์นิเจอร์/เยื่อและกระดาษ/หนังและผลิตภัณฑ์/อัญมณีและเครื่องประดับ/แก้วและกระจก

รวมถึงพลาสติกและเคมีภัณฑ์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเฉพาะ เช่น เซรามิก/หัตถกรรมสร้างสรรค์/เครื่องใช้ภายในบ้าน/ของใช้เบ็ดเตล็ด

ภาคบริการ ผู้ประกอบการภาคบริการของไทยถูกต่างชาติซื้อกิจการ หรือนักลงทุนต่างชาติเข้ามาตั้งธุรกิจใหม่ในไทยแข่งกับผู้ประกอบการไทย

ภาคบริการที่ได้รับผลกระทบ เช่น ธุรกิจนำเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่ง ค้าปลีก/คลังสินค้า ก่อสร้าง/วิศวกรรม ขนส่งและโลจิสติกส์ ร้านอาหาร

ภาคการผลิต ผู้ผลิตต่างชาติเลี่ยงภาษีนำเข้า หรือมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) และใช้วิธีเข้ามาตั้งโรงงานผลิตสินค้าในไทย เพื่อขายในไทยและส่งออก

ภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอะไหล่ยนต์ อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างและโลหะพื้นฐาน เช่น เหล็ก/หล่อโลหะ/อะลูมิเนียม/ปูนซีเมนต์/แกรนิตและหินอ่อน

ส่วนกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ คือ ผู้ประกอบการต่างชาติ และผู้บริโภคในไทย

ตั้งศูนย์เฉพาะกิจปราบสินค้าธุรกิจผิดกฎหมาย

กระทรวงพาณิชย์
“นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์” ปลัดกระทรวงพาณิชย์

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติจัดตั้ง ศูนย์เฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามสินค้าและธุรกิจฝ่าฝืนกฎหมาย โดยมี นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมด้วย

พร้อมกำหนด 5 มาตรการหลัก แยกเป็นมาตรการเร่งรัดและมาตรการยั่งยืน 63 มาตรการ เพื่อให้ทั้ง 28 หน่วยงาน ดำเนินการอย่างเข้มข้น จริงจัง

โดยในเบื้องต้น จะใช้มาตรการจาก เบาไปหาหนัก เริ่มจาก การเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายที่ทุกหน่วยงานมีอยู่ ในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

โดยให้ตรวจสอบการจดทะเบียนนิติบุคคล ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน คุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) การชำระอากรขาเข้าของผู้ประกอบการต่างชาติ การเปิดตู้สินค้าตรวจสอบให้ถี่ขึ้น

มาตรการเหล่านี้จะใช้กับสินค้านำเข้าทุกประเทศ ตั้งแต่พืชผักผลไม้ไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า และให้ทุกหน่วยงานแจ้งผลดำเนินงานทุกสัปดาห์ และ “นายภูมิธรรม” จะเรียกประชุมทั้ง 28 หน่วยงานทุก 2 สัปดาห์  

อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายที่มีอยู่ไม่เพียงพอ หรือไม่ทันสมัย ก็จะพิจารณาความจำเป็นในการปรับปรุง หรือออกระเบียบใหม่ แต่ต้องอยู่ภายใต้กติกาการค้าที่เป็นสากล

รวมถึงการตอบโต้ทางการค้าต่อสินค้าส่งออกไทย ผลกระทบต่อผู้ค้าปลีกที่ต้องการสินค้าราคาถูก และผลกระทบต่อผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าราคาถูก

เคาะ 5 มาตรการหลัก 63 มาตรการย่อย

สำหรับ 5 มาตรการหลัก 63 มาตรการย่อย ประกอบด้วย 1.มาตรการป้องกัน/กำกับดูแล แล2.ะมาตรการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด ดังนี้

1.มาตรการป้องกัน/กำกับดูแล แบ่งเป็น 3 มาตรการ คือ

1.1 บังคับใช้ระเบียบ/กฎหมายอย่างเข้มข้น ทุกหน่วยงานดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่อย่างเข้มข้น, จัดตั้งศูนย์รับแจ้งธุรกิจและสินค้าผิดกฎหมาย, ตรวจเข้มและเพิ่มอัตราการตรวจสินค้า ณ ด่านศุลกากร, เข้มงวด ตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

1.2 ปรับปรุงกฎระเบียบ จัดตั้งนิติบุคคลที่มีสำนักงานในไทย, เพิ่มจำนวนสินค้าควบคุมภายใต้ มอก. และ อย., ปรับปรุงระเบีบบที่เกี่ยวข้องกับเขตปลอดอากร (Free Zone), ออกระเบียบ/แนวปฏิบัติของหน่วยงานในการตรวจสอบการประกอบธุรกิจและการลงทุนของต่างชาติ

1.3 มาตรการภาษี กำหนดให้แพลตฟอร์มจำหน่ายสินค้ามาไทยต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม, ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard)

2.มาตรการส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด

2.1 การช่วยเหลือ SME ไทย สร้าง/พัฒนาผู้ให้บริการดิจิทัลไทย, ศึกษากลุ่มเป้าหมายที่ควรได้รับการพัฒนาศักยภาพในการผลิตสินค้า/เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

2.2 สร้าง/ต่อยอดความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น ขยายความร่วมมือด้านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซกับต่างชาติ, ผลักดันสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มต่างประเทศ, ผู้ประกอบการไทย-ต่างชาติลงทุนร่วมกัน

พาณิชย์ลุยตรวจธุรกิจเสี่ยงนอมินีเพิ่ม

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” หน่วยงานต้นทางตรวจสอบการประกอบธุรกิจนั้น ได้เดินหน้าตรวจสอบ “ธุรกิจเสี่ยง” ที่จะกระทำผิดกฎหมายไทยเพิ่มเติม

อย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง, ธุรกิจคลังสินค้า, ธุรกิจก่อสร้างและวิศวกรรม, ธุรกิจค้าเหล็ก, ธุรกิจบริการขนส่งและโลจิสติกส์ ฯลฯ ตามที่ภาคเอกชนเรียกร้อง นอกเหนือจากที่ตรวจสอบธุรกิจเสี่ยงเป็นประจำอยู่แล้ว

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า บอกว่า กรมจะไปตรวจสอบว่า ธุรกิจเหล่านั้น จดทะเบียนนิติบุคคลถูกต้องหรือไม่ เป็นธุรกิจของไทยหรือต่างชาติ ถ้าเป็นต่างชาติ ขออนุญาตทำธุรกิจภายใต้พ...การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าววถูกต้องหรือไม่ หรือมีคนไทยเป็นนอมินี ถ้าพบเป็นนอมินี ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

สำหรับการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจเสี่ยงนอมินี หรือคนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าว เพื่อเลี่ยงการปฏิบัติตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 นั้น กรมร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรตรวจสอบมาหลายปีแล้ว

โดยปี 67 ได้ตรวจสอบธุรกิจเป้าหมาย 26,019 ราย ใน 4 กลุ่มธุรกิจ คือ ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ภัตตาคาร ร้านอาหาร, ธุรกิจค้าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์, ธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ต และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ ใน 6 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี และกรุงเทพฯ

ล่าสุดได้คัดกรองธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง และต้องตรวจสอบเชิงลึก เพื่อติดตามงบการเงิน สถานที่ตั้ง พร้อมออกหนังสือให้นิติบุคคลชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจและการลงทุน 498 ราย  

ในจำนวนนี้พบว่าไม่มีความผิดปกติ 333 ราย และมีความเสี่ยงสูง 165 ราย ที่ต้องตรวจสอบเพิ่ม และอยู่ระหว่างส่งต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบเชิงลึกต่อไป

กระทรวงพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ไทยระดมสมองสู้ศึก สินค้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน