เศรษฐา สั่ง เอ็กซเรย์ยาเสพติด ตรวจฉี่ ทุกหมู่บ้านทั่วไทย

เอ็กซเรย์ยาเสพติด ตรวจฉี่ทุกหมู่บ้าน เห็นผลรูปธรรม 90 วัน

นายกฯเศรษฐา สั่งกลางครม.สัญจรโคราช ให้ผู้ว่าฯ ร่วมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เอ็กซเรย์ยาเสพติด จับกลุ่มเสี่ยง อายุ 16 ปีขึ้นไป ตรวจฉี่ ทุกหมู่บ้านทั่วไทย ขีดเส้นใต้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน ใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ”

เศรษฐา สั่ง ตรวจฉี่ เอ็กซเรย์ยาเสพติด ทุกหมู่บ้าน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สั่งการ ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จ.นครราชสีมา (ครม.สัญจรโคราช) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 (นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์) โดยเน้นย้ำ เรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด เป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนและสำคัญของรัฐบาล

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ประชุมติดตามกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสั่งการไปหลายครั้ง เพราะการแพร่ระบาดของยาเสพติดโดยเฉพาะในวัยรุ่น และวัยทำงานเป็นปัญหา ที่ทำลายกำลังสำคัญ ของชาติ โดยนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบ บูรณาการ ระดมความร่วมมือกับตำรวจ สำนักงาน ป.ป.ส. หน่วยงานรัฐต่าง ๆ ภาคประชาชนในพื้นที่ เพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้

ดำเนินการเอ็กซเรย์พื้นที่ ด้วยการระดมกำลังตรวจปัสสาวะกลุ่มเสี่ยงทุกคนที่ อายุ 16 ปี ขึ้นไป ในทุกหมู่บ้าน

แยกผู้เสพออกมารับการบำบัด และให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม โดย สำนักงาน ป.ป.ส. และ กระทรวงกลาโหม ขยายผลในการจับกุมผู้ขาย เพื่อดำเนินคดีอย่างเฉียบขาด ถือเป็นการตัดปริมาณยาเสพติดออกจากระบบ

ให้กระทรวงสาธารณสุข แยกแยะผู้เสพตามระดับความรุนแรงมาบำบัด  รักษา และส่งคืนชุมชน เมื่อมีความพร้อม โดยให้ กระทรวงสาธารณสุข  มหาดไทย และ กลาโหม ร่วมกันจัดหาสถานที่บำบัดให้เพียงพอ และให้แน่ใจว่าจะไม่กลับไปเสพยาอีก

การส่งตัวคืนชุมชน ต้องฝึกอาชีพ หางานให้ทำและมีรายได้เพียงพอกับการดำรงชีวิต ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และ กระทรวงแรงงาน ต้องเข้ามาช่วย เพื่อไม่ให้กลับไปเป็นผู้เสพอีก ซึ่งจะช่วยตัดจำนวนผู้เสพลง

สร้างค่านิยมใหม่ เยาวชนไม่เกี่ยวข้องยาเสพติด

การป้องกันผู้เสพใหม่ ให้กระทรวงศึกษาฯ และกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เร่งหามาตรการที่เหมาะสม ในการสอดส่องดูแลอย่าให้ลูกหลานเสพยา และขอให้ทางโรงเรียน ร่วมกันในการปลูกฝังค่านิยม คุณค่าใหม่ “เด็กและเยาวชนต้องไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด”

ให้ สำนักงาน ป.ป.ส. เป็นเสนาธิการ ในการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด ที่ท้าทาย กำหนดมาตรการที่เหมาะสมให้กับจังหวัด พร้อมสนับสนุนการประสานงาน และทรัพยากรที่จำเป็นต่อไป และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ต้องทำงานคู่กันอย่างใกล้ชิด

เร่งปราบปรามยาเสพติด ให้เห็นผลรูปธรรมภายใน 90 วัน

ขณะเดียวกัน วันนี้ (2 กรกฎาคม 2567) เวลา 12.30 น. ณ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนคราชสีมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติดระยะเร่งด่วน

โดยมีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา หัวหน้าส่วนราชการ และนิสิต นักศึกษาเข้าร่วมงาน

นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายว่า รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ได้กำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมกับหน่วยงานของรัฐ ภาคประชาชน และภาคเอกชน บูรณาการการดำเนินงานในการปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และเด็ดขาดให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 90 วัน

โดยกำหนดเป็นพื้นที่ที่มีปัญหายาเสพติดรุนแรง จำนวน 25 จังหวัด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุน และให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จตามเป้าหมาย ในขณะเดียวกันก็จะมีบทลงโทษสำหรับเจ้าหน้าที่ที่บกพร่อง ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่

ใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” แก้ปัญหายาเสพติด

นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า การปฏิบัติการลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติดในระยะ 1 ปี เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยขอให้ใช้กลยุทธ์ “ปลุก เปลี่ยน ปราบ” เพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ดังนี้

  • ปลุก คือ การปลุกชุมชนให้เข้มแข็ง ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกับภาครัฐ ป้องกันตั้งแต่ระดับเยาวชน ผ่านหลักสูตรในสถาบันการศึกษา
  • เปลี่ยน คือ เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ทำการเอ็กซเรย์ชุมชน แล้วนำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และฝึกอาชีพ
  • ปราบ คือ การปราบปรามนักค้ายาเสพติด สกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้ายาเสพติด และใช้มาตรการ “ยึด อายัดทรัพย์สิน” เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติด ความสูญเสียที่เคยเกิดขึ้น ในอดีตที่ผ่านมาจากปัญหายาเสพติด ได้ส่งผลกระทบต่อสังคมทั้งในเรื่องชีวิตและทรัพย์สินในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ

นายกฯ ขอให้ทุกหน่วยงานมีส่วนร่วมในการป้องกันปราบปรามยาเสพติดให้หมดไป และขอให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง นำโครงการขจัดปัญหายาเสพติด ที่อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน และโครงการปราบปรามยาเสพติดระยะเร่งด่วน ที่อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด มาเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหา โดยทั้ง 2 โครงการเป็นความร่วมมือของทุกหน่วยที่บูรณาการร่วมกัน ทั้งเจ้าหน้าที่

บูรณาการ แก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน

ตำรวจ ทหาร ป.ป.ส. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ และอีกหลายหน่วยงานร่วมมือกัน ในการขจัดยาเสพติดให้สิ้นไปจากพื้นที่ที่ตัวเองรับผิดชอบ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหา ผ่านนโยบายการบูรณาการแก้ไขปัญหายาเสพติด ระยะเร่งด่วน 3 เดือน ดังต่อไปนี้

  • ให้ผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเป็น CEO ในการขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ทำให้ทุกองคาพยพในพื้นที่ เกิดการขับเคลื่อนงานในการป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกัน
  • ปราบปรามยาเสพติด เพื่อตัดวงจรการค้ายาเสพติดรายสำคัญ ปฏิบัติการกวาดล้างนักค้ายาเสพติดในพื้นที่แพร่ระบาด เพิ่มประสิทธิภาพมาตรการสมคบ สนับสนุนช่วยเหลือ และยึด อายัดทรัพย์สินคดียาเสพติด ดำเนินการปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดอย่างจริงจังและเด็ดขาดและให้ความสำคัญกับการดำเนินการต่อข้อร้องเรียนของประชาชนโดยเร่งด่วน โดยขอให้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ป.ป.ส. กระทรวงกลาโหม
  • ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด และลดความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด โดยกำหนดให้เป็นความสำคัญเร่งด่วนของทุกจังหวัด โดยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันค้นหาผู้ที่มีอาการจิตเวชจากยาเสพติด และให้กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรมนำไปเข้าบำบัดรักษา และให้มีระบบในการติดตามดูแล ช่วยเหลือ เฝ้าระวังภายหลังกลับสู่ชุมชน
  • ให้ทุกจังหวัด เร่งนำผู้เสพยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา ตั้งแต่กระบวนการคัดกรอง บำบัดรักษา ส่งต่อตามกระบวนการให้แน่ใจว่าฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้สำเร็จ และที่สำคัญคือ การฟื้นฟูสภาพทางสังคม ให้การช่วยเหลือฝึกฝนด้านการงานอาชีพ การศึกษา โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการดำเนินงานให้ผู้เสพยาเสพติดมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รวมถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ต้องเข้ามาดูแลเพื่อให้บุคคลเหล่านี้ ที่ผ่านการบำบัดรักษาแล้วกลับมาใช้ชีวิตในสังคม มีงานทำเพื่อไม่ให้บุคคลเหล่านี้กลับไปสู่วงจรของยาเสพติดอีก
  • ให้ดำเนินการควบคุมปัจจัยเสี่ยง จัดระเบียบสังคมในพื้นที่สถานบันเทิง/สถานบริการ สถานประกอบการคล้ายสถานบันเทิง และบริเวณรอบสถานศึกษา โดยให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันไม่ให้ใช้เป็นแหล่งในการแพร่ระบาดยาเสพติด
  • เสริมสร้าง ปลุกพลังประชาชนให้ตื่นตัว และเข้าร่วมในการแก้ไขปัญหายาเสพติด สร้างมาตรการในชุมชน และมาตรการทางสังคมให้เป็นพลังต่อต้านยาเสพติดอย่างกว้างขวาง ทั้งในบทบาทของการป้องกัน การเฝ้าระวัง การดูแล ติดตาม ช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษา การรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน/ชุมชน รวมถึงการสร้างมาตรการให้ชุมชนดูแลด้วยกันเอง และปลูกฝังเยาวชนผ่านหลักสูตรการศึกษาให้เข้าใจถึงผลเสียของยาเสพติด
  • ขอให้ทุกจังหวัด เร่งสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้กับประชาชนได้รับรู้รับทราบ ถึงความตั้งใจ ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ ประชาชนต้องมีความเชื่อมั่นและความพึงพอใจต่อการดำเนินงานป้องกัน ปราบปราม และแก้ไขปัญหายาเสพติดของรัฐบาล

เศรษฐา ลั่น ต้องปราบปรามให้หมดสิ้น

ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะสำเร็จได้ ต้องอาศัยทุกภาคส่วนทั้งจังหวัด ตำรวจ ทหาร สาธารณสุข ป.ป.ส. และหน่วยงานอื่น ๆ และต้องได้รับการสนับสนุนจากพี่น้องประชาชน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับปัญหายาเสพติดร่วมกัน เป็นหูเป็นตาช่วยกันดูแลสอดส่อง แจ้งเบาะแส เฝ้าระวัง และป้องกันลูกหลานไม่ให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด

“ขอให้ประชาชนทุกคนที่รู้เบาะแสคนติดยาเสพติดให้แจ้งตำรวจหรือเจ้าหน้าที่ภาครัฐ นายอำเภอ ผู้ว่าฯ ให้ช่วยกันติดตามมาช่วยบำบัด หรือปราบปรามให้หมดสิ้น” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง บูรณาการ 3 กระทรวงหยุด ยาเสพติด เชิงรุก