เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจโลก
เลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ชะตาเศรษฐกิจโลก


ขณะนี้ ทั่วโลกกำลังจับตาการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ วันที่ 5พ.ย.นี้ (ตามเวลาสหรัฐฯ)

ซึ่งเป็นการชิงชัยกันระหว่าง นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตผู้นำหมายเลข 1 ของสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน

และ นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯคนปัจจุบัน จากพรรคเดโมแครตว่า จะเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นบ้างในโลกใบนี้ ภายหลังทราบผลผู้ชนะ 

เนื่องจากแนวนโยบายที่ใช้หาเสียงของทั้ง 2 พรรคแตกต่างกันมาก และจะมีส่วนสำคัญในการกำหนดทิศทางเศรษฐกิจ การเมือง การค้า และการลงทุนทั้งในสหรัฐฯ รวมถึงประเทศคู่ค้าในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก

หลายหน่วยงานของไทยได้วิเคราะห์เปรียบเทียบแนวนโยบายของผู้สมัครทั้ง 2 คน รวมถึงผลดี ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นกับไทย และโลก เพื่อจะได้ปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ และความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้ง

ขณะที่นักวิชาการ และภาคเอกชน ก็ได้ฝากคำแนะนำถึงผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวเช่นกัน

เทียบชัดๆ นโยบายแฮร์ริสทรัมป์

สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ นครชิคาโกสหรัฐอเมริกา หน่วยงานในสังกัดกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้เปรียบเทียบนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในอนาคตของผู้สมัครทั้ง 2 คน ดังนี้

1. นโยบายการค้าและภาษีนำเข้า

แฮร์ริส : ตอบโต้ทางการค้าจีน ด้วยการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มขึ้น รวมถึงกลุ่มรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ใช้เครื่องมือกีดกันทางการค้าในรูปของภาษีนำเข้า เพื่อสนับสนุนการจ้างงานชาวอเมริกัน

ทรัมป์ : เก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีน 60% และสินค้านำเข้าจากประเทศอื่น 10 – 20% สนับสนุนการค้าต่างตอบแทน (Reciprocity) โดยเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าในอัตราเดียวกับที่ประเทศคู่ค้าเก็บจากสินค้าสหรัฐฯ

2. นโยบายพลังงานและสิ่งแวดล้อม  

แฮร์ริส : ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ที่เป็นสาเหตุสำคัญของวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน ลดการใช้พลังงานฟอสซิล

  ทรัมป์ : การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องหลอกลวง จึงเสนอให้ยกเลิกการให้ภาษีส่วนลดสำหรับการซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า และยกเลิกรัฐบัญญัติ IRA ที่สนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด 

3. นโยบายความสัมพันธ์กับจีน

แฮรริส : เสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในแปซิฟิกเพื่อคานอำนาจจีน และสนับสนุนไต้หวันในการปกป้องอธิปไตยจากการรุกรานของจีน

ทรัมป์ : ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวต่อจีนทั้งด้านการค้า และการทหาร โดยเสนอเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนในอัตราสูง เพื่อลดขาดดุลการค้ากับจีน 

4. นโยบายธนาคารกลาง (FED) สหรัฐฯ

  แฮร์ริส : ไม่แทรกแซงนโยบายของ FED สนับสนุนการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ ด้วยการคุมราคาสินค้า

  ทรัมป์ : ไม่เห็นด้วยกับนโนบายอัตราดอกเบี้ย เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และเห็นว่ามีมาตรการอื่นที่ควบคุมเงินเฟ้อในตลาดได้

5. นโยบายภาษีธุรกิจ

แฮรริส : ขึ้นภาษีธุรกิจเป็น 28% จากเดิม 21% และเพิ่มภาษีรายได้ธุรกิจที่มีแหล่งรายได้จากต่างประเทศ มีแผนปรับขึ้นภาษีทางเลือกขั้นต่ำสำหรับธุรกิจ (CAMT) สำหรับธุรกิจขนาดใหญ่รายได้เกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯติดต่อกันอย่างน้อย 3 ปี จากเดิม 15% เป็น 21% และเสนอขึ้นภาษีซื้อคืนหุ้นจาก 1% เป็น 4%

  ทรัมป์ : ลดอัตราภาษีธุรกิจเหลือ 15 – 20% จากเดิม 21% สอดคล้องกับนโยบายตัดลดการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการใช้จ่ายตามรัฐบัญญัติ IRA ในกลุ่มสินค้ารถยนต์ไฟฟ้าและกลุ่มพลังงานสะอาด

ชี้ทรัมป์ชนะไทยส่อกระทบหนัก

พร้อมกันนั้น สตค.ชิคาโก ยังได้วิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับไทย หากนางแฮร์ริส หรือนายทรัมป์ชนะด้วย โดยหากนางแฮร์ริส ได้รับชัยชนะ ทิศทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศระหว่างไทยและสหรัฐฯ น่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดนมากนัก

โดยสหรัฐฯ ยังคงเก็บภาษีตอบโต้สินค้านำเข้าจากจีน ทั้งในกลุ่มสินค้าเดิม และสินค้าใหม่ ที่เพิ่งประกาศขึ้นภาษีเมื่อเร็วๆ นี้ อย่างยานยนต์ไฟฟ้า 

ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถด้านการแข่งขันให้ไทย และเพิ่มโอกาสส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และยางรถยนต์ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าสหรัฐฯ ที่คาดจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากการสนับสนุนของรัฐบาล 

อีกทั้งจะเป็นโอกาสสำหรับสินค้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น แผงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (แผงโซลาเซลล์)

ส่วนนโยบายเพิ่มภาษีธุรกิจ อาจส่งผลให้กลุ่มผู้ประกอบการในสหรัฐฯ ปรับลดงบลงทุนเพื่อชดเชยภาษีที่เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการบริโภคในระยะยาว ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยได้

แต่หากนายทรัมป์ ได้รับชัยชนะ แม้ว่านโยบายตอบโต้ทางการค้าจีนจะเข้มข้นมากขึ้น แต่ไทย ก็อาจเป็นเป้าหมายตอบโต้ของสหรัฐฯด้วย เพราะไทยได้ดุลการค้าสหรัฐฯมาอย่างต่อเนื่อง

โดยเห็นได้จาก ช่วงที่นายทรัมป์เป็นผู้นำ สหรัฐฯได้ดำเนินมาตรการกดดันไทย โดยเปิดไต่สวนไทย และอีก 15 ประเทศ ที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯในระดับสูง อีกทั้งสินค้าไทยมากถึง 573 รายการ ยังถูกระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP)

นอกจากนี้ นโยบายไม่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าและการรักษาสิ่งแวดล้อม ยังกระทบต่อภาคการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของไทยได้ 

ขณะที่นโยบายปรับลดภาษีบุคคลและธุรกิจ รวมถึงดอกเบี้ย แม้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การมีมาตรการตอบโต้การค้าจีนที่รุนแรงควบคู่กัน อาจทำให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น และส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้นตาม

ซึ่งอาจลุกลามถึงขั้นเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย และจะกระทบต่อการส่งออกของไทยได้

แฮร์ริสชนะสงครามจริงรุนแรงขึ้น

ขณะที่ นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ให้ความเห็นว่า โดยส่วนตัวมองว่า นายทรัมป์ อาจเป็นผู้ชนะศึกครั้งนี้ เพราะเป็นนักธุรกิจ ผู้คนในตลาดหุ้นวอลล์สตรีท และวงการการค้า การลงทุนอ่านใจออกว่าคิดอย่างไรในเรื่องเศรษฐกิจ ส่วนนางแฮร์ริส เป็นนักการเมืองมาตลอด นักธุรกิจจึงไม่มั่นใจในเรื่องเศรษฐกิจ

ไม่ว่าใครชนะ สงครามการค้าประทุขึ้นอีกแน่ ดังนั้น การลงทุนจะย้ายจากจีน มาไทย เพราะไม่อยากมีปัญหา Trade War  ไทยจะกลายเป็นฐานการค้า การลงทุน เพราะผลิตที่ไทยขายได้ทั่วโลก และจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นอีกมาก

ด้าน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) มองว่าหากทรัมป์กลับมาเป็นประธานาธิบดี ความขัดแย้งและสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะรุนแรงขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่สงครามจริงในตะวันออกกลาง ไต้หวัน หรือคาบสมุทรเกาหลี จะลดลงได้

ในทางกลับกัน หากนางแฮร์ริส ชนะ สงครามการค้าอาจไม่รุนแรง แม้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการส่งออกไทย แต่ไทยจะได้ประโยชน์จากการที่จีน และประเทศอื่นๆ ที่มีฐานผลิตที่จีน จะย้ายมาลงทุนไทยมากขึ้นได้เช่นกัน

แต่สงครามจริงจะดำเนินต่อไป และเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะสงครามจริงเกิดขึ้นแล้ว จะไม่จบง่ายๆ ที่สำคัญจะกระทบต่อเส้นทางขนส่ง ต้นทุนการค้า การเงิน และพลังงาน ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกได้

จับตาหุ้นไทยเดือนพ..1,400-1,500 จุด

นอกจากผลกระทบด้านเศรษฐกิจ การค้าแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ จะส่งผลกระทบถึงตลาดหุ้นทั้งของสหรัฐฯ ของโลก และของไทยได้ด้วย 

โดยธนาคารกสิกรไทย วิเคราะห์ว่า หากนายทรัมป์ ชนะเลือกตั้ง จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มธนาคารและการเงิน หุ้นกลุ่มบริการทางการแพทย์ หุ้นอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอวกาศ 

รวมถึงหุ้นบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และหุ้นอุตสาหกรรมน้ำมันเละก๊าซธรรมชาติ จากนโยบายที่เน้นด้านการลดภาษีบริษัทขนาดใหญ่และลดการตรวจสอบควบคุม

แต่หากนางแฮร์ริสชนะ จะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มพลังงานสะอาด หุ้นกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และหุ้นกลุ่มโทรคมนาคม 

จากนโยบายสนับสนุนพลังงานสะอาด โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่เกี่ยวข้อง และสานต่อนโยบาย Inflation Reduction Act 

สำหรับผลต่อตลาดหุ้นไทย หลายสำนักคาดการณ์ทิศทางเดียวกันว่า ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เดือน ..นี้ จะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 1,400-1,500 จุด 

พร้อมกันนั้น ยังประเมินว่า หากนางแฮร์ริส ชนะ จะเป็น Sentiment บวกต่อตลาดหุ้นไทย และหุ้นโลกมากกว่านายทรัมป์ ที่มีนโยบายเศรษฐกิจเป็นลบกับต่างประเทศ 

โดยหากนางแฮร์ริสชนะ SET Index มีแนวโน้มจะทำจุดต่ำสุดของเดือนได้ที่บริเวณ 1,420 จุด และจะรีบาวด์กลับขึ้นไปได้ที่ 1,480 – 1,500 จุด แต่ถ้านายทรัมป์ชนะเลือกตั้ง มีโอกาสที่ดัชนีหุ้นไทยจะเคลื่อนไหวหลุดระดับ 1,400 จุดได้เช่นกัน 

แนะผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์การค้า

อย่างไรก็ตาม มีคำแนะนำจาก นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ว่า ไม่ว่าใครชนะศึกครั้งนี้ ไทยต้อง ปรับกลยุทธ์ทางการค้าและการส่งออก

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตลาดใหม่ กระจายความเสี่ยงของตลาดส่งออก ใช้ e-Commerce ในการส่งออกสินค้า ใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางการค้าที่อาจเกิดขึ้น อย่างกรณีที่สหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน จะเป็นโอกาสให้ประเทศที่ 3 รวมถึงไทยขยายส่วนแบ่งตลาดส่งออกในสหรัฐฯได้

นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสจากการที่สหรัฐอาจกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจ โดยเพิ่มความหลากหลายของแหล่งนำเข้าวัตถุดิบ/สินค้า ไม่พึ่งพาประเทศใดมากเกินไป หรือส่งเสริมการย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ สร้างพันธมิตรทางการค้า และมองหาคู่ค้ารายใหม่ 

ส่วนนายอัทธ์ พิศาลวานิชนักวิชาการอิสระและผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า ผู้ส่งออกสินค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯต้องหาตลาดอื่นทดแทน เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกใช้มาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ รวมถึงบริหารต้นทุนการผลิต ศึกษามาตรฐานสินค้าและเร่งปรับตัว 

“ต้องศึกษาสินค้าจีนที่ถูกเก็บภาษี 60% แล้วไทยควรส่งออกสินค้าดังกล่าวทดแทนสินค้าจีน อีกทั้งต้องดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ จากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เช่น ถุงมือยาง ล้อรถยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้า เป็นต้น 

นอกจากนี้ ต้องปรับกระบวนการผลิตสินค้า โดยเร่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดึงดูดการลงทุนพลังงานสะอาด ธุรกิจ BCG และเร่งใช้ประโยชน์จากกรอบความร่วมมืออินโดแปซิฟิก (IPEF) ที่สหรัฐฯเป็นผู้ริเริ่ม”

กระทรวงพาณิชย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตือนคนไทยในสหรัฐฯ หลีกเลี่ยงเข้าใกล้พื้นที่ชุมนุมประท้วงจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ