นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบาย ห่วงหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะต่อGDP

นายกรัฐมนตรี แถลงนโยบาย ห่วงหนี้ครัวเรือน-หนี้สาธารณะต่อGDP อาจจะกลายเป็น ข้อจำกัดทางด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต

  • อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังอยู่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง
  • การสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง
  • ความเหลื่อมล้ำ ทวีความรุนแรงขึ้น
  • จนมีประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย
  • รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน

วันนี้(11 กันยายน 2566) นายเศรษฐา  ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา ในตอนหนึ่งว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าร้อยละ 90 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)ถือเป็นความเปราะบางของภาคประชาชนต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจ ตลอดจนระดับ ของหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่สูงกว่าร้อยละ 61 ซึ่งมีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงจนอาจจะกลายเป็น ข้อจำกัดทางด้านการคลังและการบริหารประเทศในอนาคต และโดยเฉพาะเมื่อประเทศไทย มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยย้อนหลังอยู่ต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง

สะท้อนให้เห็นว่าศักยภาพในการสร้างรายได้ยังต่ำกว่าการใช้จ่าย ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินเรื้อรัง ความเหลื่อมล้ำ ที่ทวีความรุนแรงขึ้น จนมีประชาชนที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่รอการช่วยเหลือจากรัฐมากกว่า 14 ล้านคน อีกด้านหนึ่งของระบบเศรษฐกิจคือภาคการเกษตร ประชากรจำนวนไม่น้อย ของประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน หรือราว 1 ใน 3 ของกำลังแรงงาน อยู่ในภาคนี้ที่ทำงานหนัก เพื่อเลี้ยงชีพ แต่กลับสะท้อนออกมาเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 7 ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการทำการเกษตรที่ยังคงพึ่งพาวัฏจักรธรรมชาติและมีประสิทธิภาพของผลผลิตต่ำ แต่ค่าใช้จ่ายในการผลิตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เกษตรกรไทยมีหนี้สินเฉลี่ย ครัวเรือนละกว่า 300,000 บาท

ความแปรปรวนของสภาพอากาศและโรคอุบัติใหม่ นอกจากจะเป็นภัยพิบัติ ที่สร้างผลกระทบโดยตรงต่อมนุษยชาติแล้ว ยังส่งผลทางอ้อมให้เกิดกฎ ระเบียบ หรือข้อบังคับใหม่ ๆ ที่ส่งผลต่อรูปแบบการค้าและการท่องเที่ยวของโลก สภาวะอากาศสุดขั้ว (Extreme Weather) ที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Nino) และได้สร้างความเสี่ยงให้กับพี่น้องเกษตรกรไทย จำนวนมากที่รัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อมรับมือเพื่อลดผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชน

ด้านสังคม ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยแบบสมบูรณ์ (Aged Society) โดยมีคนสูงวัยมากกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนประชากร ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพ ทางเศรษฐกิจจากการลดลงของสัดส่วนประชากรช่วงวัยทำงาน และมีแนวโน้มที่รัฐจะต้องให้การดูแลช่วยเหลือเพิ่มขึ้น สัดส่วนของผู้สูงวัยที่มากขึ้นเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล ทั้งในเรื่องของสวัสดิการและงบประมาณด้านสาธารณสุข ขณะที่การสร้างทรัพยากรมนุษย์เพื่อมาทดแทนกลายเป็นความท้าทายจากการที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ในแต่ละปีมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง

นอกจากความท้าทายเชิงปริมาณแล้ว การศึกษาของประเทศไทยยังมีความท้าทาย เชิงคุณภาพ ที่ยังไม่สามารถผลิตบุคลากรให้ตอบสนองต่อความต้องการของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ นักเรียน นักศึกษาที่เรียนจบใหม่ไม่สามารถหางานทำที่ตรงกับสายงานหรือจำเป็นต้องทำงาน ในสายงานที่มีรายได้ต่ำกว่าความสามารถทางวิชาชีพ

ด้านการเมือง ประเทศไทยได้เข้าสู่จุดเปลี่ยนผ่านด้านกฎหมาย การเมือง และการปกครอง ที่ความเห็นต่าง การแบ่งแยกทางความคิด การไม่เคารพอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ที่หลากหลาย ทำให้สังคมอยู่ในจุดที่น่ากังวล ข้อกฎหมายที่ไม่ทันต่อสถานการณ์บ้านเมืองกลายเป็นต้นเหตุของอุปสรรค ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน สินบน อาชญากรรม การหลอกลวงฉ้อฉล การพนัน และยาเสพติด ที่ทวีความรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความสิ้นหวังของประชาชนที่มีต่อระบบการเมืองและระบบราชการ ของประเทศไทย

ความท้าทายเหล่านี้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และความยากลำบากให้กับสังคมไทย ทำให้ประเทศไทยขาดความพร้อมที่จะเติบโต ได้อย่างเต็มศักยภาพ เกิดวิกฤตศรัทธาของประชาชน และกลายมาเป็นเป้าหมายของรัฐบาลนี้ ที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน สร้างความพร้อม และวางรากฐานเพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า ให้กับคนไทยทุกคนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

ขอบคุณภาพจากสำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี