ป.ป.ช.รับคำร้อง เอาผิดเจ้าหน้าที่ เอื้อประโยชน์ “ทักษิณ” หรือไม่



เลขาฯ ป.ป.ช.รับพิจารณาคำร้องเจ้าหน้าที่รัฐ อนุญาต “ทักษิณ” รักษาตัวนอกเรือนจำ เป็นการเอื้อประโยชน์หรือไม่ ชี้ หากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ต้องมาดูการใช้ดุลพินิจ

  • ชี้ หากกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้
  • ต้องมาดูการใช้ดุลพินิจ

นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. กล่าวถึงการร้องเรียนให้ตรวจสอบอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้อำนวยการโรงพยาบาลตำรวจ และฝ่ายการเมืองผู้เกี่ยวข้องในกรณีพิจารณาอนุญาตให้ นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องขังเด็ดขาดไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลภายนอกเรือนจำ จนกระทั่งถึงวันพักโทษ ว่ามีพฤติการณ์เอื้อประโยชน์และกระทำการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม หรือไม่ว่า

ป ป.ช. รับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง และเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูลทั้งกรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ เพราะตามขั้นตอน ต้องได้ข้อมูล ข้อเท็จจริงก่อน ระเบียบมีกฎหมายวิธีปฏิบัติอย่างไรในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งจะต้องตรวจว่าคนที่เกี่ยวข้องเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ มีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และมีการกระทำฝ่าฝืนกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนจะเป็นความผิดหรือไม่ต้องดูที่ข้อเท็จจริง

ทั้งนี้หากพบว่ามีมูลความผิดจริง จะมีการตั้งไต่สวน แล้วเชิญพูดถูกกล่าวหามาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่หากพบว่ากฎหมายเปิดช่องให้สามารถดำเนินการได้ เป็นการใช้ดุลยพินิจถูกต้องก็ไม่มีปัญหา ป.ป.ช.ก็ไม่สามารถดำเนินการได้ หากฝ่าฝืนกฎหมาย ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง จึงยังเร็วไปที่จะชี้ว่าใครถูกหรือผิด

ส่วนการตรวจสอบพฤติกรรมว่ามีการเอื้อประโยชน์จริงหรือไม่แม้จะมีกฎหมายรองรับนายนิวัติไชย กล่าวว่า มีกฎหมายระเบียบรองรับและไม่ได้ทำผิดกฎหมายและกฎหมายเปิดช่องให้สามารถทำได้ ต้องมีการแยกกันกับเรื่องความเหมาะสม ป.ป.ช.ไม่สามารถตรวจสอบเรื่องความเหมาะสมหรือเจตนาได้ หากมีการทำตามกฎหมาย
แต่ถ้าดำเนินการผิดกฎหมายจึงจะมีเจตนาในทางอาญา หากมีการดำเนินการตามกฎหมายว่าควรจะส่งบุคคลไหนไปรักษาตัวและกฎหมายเปิดช่องว่าให้เป็นดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องก็อาจจะใช้ดุลยพินิจซึ่งอาจจะมีการใช้ดุลยพินิจกับคนอื่นอีกก็ได้ ป.ป.ช. ไม่ทราบว่าการใช้ดุลยพินิจกับใครบ้าง

ส่วน ป.ป.ช.จะตรวจสอบไปถึงการใช้ดุลพินิจว่ามีความถูกต้องเหมาะสมหรือไม่นั้น นายนิวัติไชย กล่าวว่า จะต้องมีการตรวจสอบควบคู่กันไป แต่อย่างแรกต้องดูข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติและมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้วางเส้นแล้วไม่ให้มีการฝ่าฝืน ทั้งนี้เรื่องของการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจเป็นเรื่องลำบาก เหมือนกรณีศาลตัดสินคดีก็มีฝ่ายที่แพ้ฝ่ายชนะ ก็เป็นการใช้ดุลพินิจ