“ยิ่งลักษณ์” ดีใจศาลฎีกามีมติเอกฉันท์ยกฟ้องคดีโรดโชว์

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

“ยิ่งลักษณ์” ดีใจศาลฎีกามีมติเอกฉันท์ยกฟ้องคดีโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทยวงเงิน 239.70 ล้านบาท

  • ระบุไม่ผิดมติครม.อนุมัติงบกลางมาใช้
  • ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้มติชน-สยามสปอร์ต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองได้อ่านคําพิพากษาคดี ที่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จำเลยที่ 1 นายนิวัฒน์ธํารง บุญทรงไพศาล จำเลยที่ 2 นายสุรนันท์ เวชชาชีวะ จำเลยที่ 3 บริษัทมติชน จํากัด (มหาชน) จำเลยที่ 4 บริษัทสยามสปอร์ต ซินดิเคท จํากัด (มหาชน) จำเลยที่ 5  และนายระวิ โหลทอง จำเลยที่ 6

ในคดีการดําเนินการเสนอโครงการ Roadshowโรดโชว์ สร้างอนาคตประเทศไทย ที่มิใช่กรณี เร่งด่วน ที่จะต้องอนุมัติงบกลางมาใช้ และการขออนุมัติจัดจ้างการดําเนินการโครงการดังกล่าวโดยวิธีพิเศษ เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

ทั้งนี้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ดําเนินการนํางบกลางจํานวน 40,000,000 บาท มาจัดทําโครงการ Roadshow ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมของประเทศ และโครงการ Roadshow เป็นการ ดําเนินการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งรัฐธรรมนูญบัญญัติให้รัฐสภาเท่านั้นตรวจสอบการกระทําของรัฐบาล ศาลจึงไม่มีอํานาจที่จะวินิจฉัยถึงดุลพินิจของฝ่ายบริหารในการกําหนดนโยบายดังกล่าว

ส่วนกรณีขออนุมัติใช้เงินงบกลาง รายการเงินสํารองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินและจําเป็น  ศาลย่อมมีอํานาจ ตรวจสอบขั้นตอนปฏิบัติว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ดําเนินการใดที่ไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ซึ่งพยานหลักฐานได้ความว่า กําหนดเวลาเริ่มดําเนินโครงการ Roadshow เกิดขึ้นจากการพิจารณาร่วมกัน ของหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งมิใช่เป็นการตัดสินใจของจําเลยที่ 1 เอง และมิได้กําหนดเวลากระชั้นชิดเพียงเพื่อให้ เป็นเหตุอ้างใช้งบกลาง เมื่อกรณีไม่อาจใช้ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 และ งบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 มาดําเนินโครงการ Roadshow ได้ตามที่ได้กําหนดเวลาไว้ ถือ ได้ว่าเป็นการกระทําในกรณีมีความจําเป็นและเร่งด่วนต้องใช้จ่ายงบประมาณ

ขณะที่จําเลยที่ 1 มีคําสั่งอนุมัติงบกลางเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2556 ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนเป็นยุติว่า ร่างพระราชบัญญัติให้อํานาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. … ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศได้ผ่านการพิจารณาจากหน่วยงานฝ่ายบริหารและผ่านมติคณะรัฐมนตรีโดยไม่มีข้อทักท้วง ประกอบกับ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณมีความเห็นว่าเห็นสมควรที่นายกรัฐมนตรีจะอนุมัติงบกลางนี้ได้ กรณีย่อมมี เหตุผลเพียงพอให้จําเลยที่ 1 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถอนุมัติได้ จึงฟังได้ว่า จําเลยที่ 1 ได้ใช้ดุลพินิจกระทําไปบน พื้นฐานของข้อมูลและข้อเท็จจริงเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น

สําหรับจําเลยที่ 2 ไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 2 มีส่วนร่วมหรือแนะนําโดยมิชอบเพื่อให้จําเลยที่ 1 อนุมัติ งบกลางอย่างไร จําเลยที่ 2 จึงเป็นแต่เพียงผู้ทําหน้าที่พิจารณาแล้วผ่านเรื่องเสนอไปยังจําเลยที่ 1 ตามลําดับชั้น เท่านั้น ส่วนจําเลยที่ 3 เพิ่งทราบว่าต้องขอใช้งบกลางจากการเสนอตามลําดับชั้นของข้าราชการผู้ปฏิบัติงาน จึงเป็นเพียงการดําเนินการตามหน้าที่เท่านั้น

ดังนี้ การที่จําเลยที่ 2 และที่ 3 เสนอให้จําเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลาง และจําเลยที่ 1 อนุมัติใช้งบกลางจํานวน 40,000,000 บาท มาดําเนินการโครงการ Roadshow จึงไม่เป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี

ปัญหาต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันตกลงให้จําเลยที่ 4 และที่ 5 เป็นผู้รับจ้างจัดทําโครงการ Roadshow ไว้ล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเริ่มการจัดจ้างหรือไม่ เห็นว่า จําเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งการให้สํานักเลขาธิการ นายกรัฐมนตรีจัดทําโครงการ Roadshow จึงเป็นเรื่องปกติที่จําเลยที่ 1 จะสั่งให้แก้ไขรูปแบบของงาน จําเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ริเริ่มให้จําเลยที่ 4และที่ 5 เข้ามานําเสนองาน ไม่ปรากฏว่ารูปแบบงานได้กําหนดรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะอย่างใดที่เป็นการเอื้อประโยชน์แก่จําเลยที่ 4 และที่ 5 โดยเฉพาะเจาะจงหรือกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น

ที่จําเลยที่ 4 มีหนังสือถึงปลัดกระทรวงมหาดไทยขอความอนุเคราะห์ให้แต่ละจังหวัดอํานวยความ สะดวก และจําเลยที่ 1 เป็นประธานแถลงข่าวงานโครงการ Roadshow โดยมีพนักงานของจําเลยที่ 4 และที่ 5 ช่วยประสานงานกับสื่อมวลชน รวมทั้งจําเลยที่ 4 เป็นผู้ออกแบบรูปแบบในการจัดงานแถลงข่าวและโลโก้สร้าง อนาคตไทย 2020 นั้น ก็มิใช่เป็นการกระทําของจําเลยที่ 1 และไม่ปรากฏว่าจําเลยที่ 1 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจ หรือให้การรับรองการดําเนินการ ทั้งเป็นรายละเอียดในขั้นตอนการปฏิบัติงาน จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จําเลยที่ 1 จะทราบข้อเท็จจริงได้ทั้งหมด

สําหรับจําเลยที่ 2 มิได้รับมอบหมายให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ Roadshow โดยตรง

ส่วนจําเลยที่ 3 นั้น ปรากฏว่าแนวทางการสรรหาเอกชนมาดําเนินการโครงการ Roadshow เป็น ข้อสรุปร่วมกันของหน่วยงานต่าง ๆ โครงการของกระทรวงคมนาคมก็เคยจ้างเอกชนมาดําเนินโครงการ จึงไม่ใช่ เรื่องที่ผิดปกติ

พยานหลักฐานทางไต่สวนจึงรับฟังไม่ได้ว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กําหนดตัวบุคคลให้เป็นผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ปัญหาต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการอนุมัติจัดจ้างโครงการ Roadshow โดยวิธีพิเศษตามฟ้องหรือไม่ เห็นสมควรวินิจฉัยวงเงิน 40,000,000 บาท ก่อน สําหรับจําเลยที่1 นั้น ไม่ปรากฏว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ส่วนจําเลยที่ 2ไม่ปรากฏ ว่าจําเลยที่ 2 เป็นผู้ริเริ่มให้ดําเนินการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ แต่เป็นการเสนอของเจ้าหน้าที่ตามลําดับชั้น โครงการ Roadshow กําหนดเริ่มดําเนินงานตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2556 และจําเลยที่ 3 เสนอเรื่องต่อจําเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2556 จึงไม่อาจใช้วิธีการประกวดราคา

อีกทั้งหัวหน้าฝ่ายพัสดุ เกษียนข้อความรับรองว่า ตรวจแล้ว ถูกต้องตามระเบียบพัสดุ กรณีมีเหตุเพียงพอให้จําเลยที่ 2 พิจารณาได้ว่าเป็นงานที่ต้องกระทําโดย เร่งด่วน หากล่าช้าอาจจะเสียหายแก่ราชการ ตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ข้อ 24 (3) เช่นนี้ แม้จําเลยที่ 2 สั่งอนุมัติภายในวันเดียวก็ไม่ถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ กรณีจึงมีเหตุที่จะ ทําให้จําเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริต จึงขาดเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่สํานักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

สําหรับจําเลยที่ 3 นั้น เห็นว่า ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างเป็นหน้าที่และอํานาจของจําเลยที่ 3 ในฐานะ หัวหน้าส่วนราชการ แต่เป็นกรณีการจัดซื้อจัดจ้างในวงเงินเกินอํานาจอนุมัติของจําเลยที่ 3 จึงต้องเสนอจําเลยที่2 พิจารณา ดังนี้ การที่จําเลยที่ 3 ไม่ได้เสนอเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างต่อคณะกรรมการบูรณาการการประชาสัมพันธ์โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย จึงมิใช่เป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ ส่วนที่คณะกรรมการกําหนดราคากลางนําข้อเสนอราคาของจําเลยที่ 4 มาใช้ในการกําหนดราคากลางนั้น เป็นการพิจารณาของคณะกรรมการกําหนดราคากลางเอง โดยไม่ปรากฏว่ามีการคบคิดกันฉ้อฉลหรือไม่สุจริต

หรือมีผู้ใดสั่งการหรือแทรกแซงการกําหนดราคากลางและคณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษให้ต้องเลือกจําเลย ที่ 4 เป็นผู้รับจ้างแต่อย่างใด ทั้งเมื่อจําเลยที่ 3 ทราบเรื่องก็ยังมีคําสั่งให้ชะลอการจ่ายเงินค่าจ้างแก่จําเลยที่ 4 และที่ 5 ไว้ก่อน

ประการสําคัญที่สุดหลังเกิดเหตุรัฐประหาร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ก็มีคําสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้น คณะกรรมการดังกล่าวก็เห็นว่าขั้นตอนการดําเนินโครงการ Roadshow เป็นไปตามระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 จึงอนุมัติเบิกจ่ายเงิน สอดคล้องกับที่คณะกรรมการสอบสวน ข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดได้ตรวจสอบแล้ว พบว่าไม่มีเจ้าหน้าที่กระทําละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ จึงฟัง ไม่ได้ว่าจําเลยที่ 3 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

ปัญหาต่อไปมีว่า จําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันดําเนินการให้มีการอนุมัติลงนามในสัญญาจ้างก่อนได้รับ เงินประจํางวด โดยไม่ชอบ เห็นว่า ที่มาของการดําเนินการดังกล่าวมิใช่เกิดจากการกระทําเพื่อแก้ไขความผิดพลาดของจําเลยที่ 3 เอง แต่การที่จําเลยที่ 3 ต้องเสนอจําเลยที่ 2 ลงนามในหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอเรื่องต่อ คณะรัฐมนตรีนั้น เกิดจากความจําเป็นต้องปฏิบัติไปตามที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ กรมบัญชีกลางมีหนังสือแจ้ง และด้วยเหตุนี้ ย่อมเป็นเหตุผลให้จําเลยที่ 2จําเป็นต้องมีหนังสือไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี การกระทําของจําเลยที่ 2 และที่ 3 ในขั้นตอนนี้จึงมิได้เป็นการกระทําโดยมิชอบ

ส่วนที่จําเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีและลงมติเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2557 ด้วย ก็ เพราะการอนุมัติให้ก่อหนี้ผูกพันก่อนได้รับอนุมัติเงินประจํางวด เป็นดุลพินิจและอํานาจของคณะรัฐมนตรี โดยเฉพาะตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 23 วรรคสี่ ไม่ปรากฏว่าการใช้ดุลพินิจ ของจําเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดกฎหมายหรือระเบียบ จึงฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 และที่ 2ใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

ปัญหาประการสุดท้ายมีว่า จําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ร่วมกันสนับสนุนจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการกระทํา ความผิดตามฟ้องหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงทางไต่สวนรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทําความผิดดังวินิจฉัย แล้ว จึงรับฟังไม่ได้ว่าจําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นผู้สนับสนุนในการกระทําความผิด ส่วนที่จําเลยที่ 4 และที่ 5 แบ่งจังหวัดเพื่อจัดทํางานนําเสนอ (Presentation) เป็นขั้นตอนก่อนกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง จึงไม่ถือว่าเป็นการ ตกลงร่วมกันเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 ดังนั้น จําเลยที่ 4 ถึงที่ 6 จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง องค์คณะผู้พิพากษามีมติเอกฉันท์ให้พิพากษายกฟ้อง และยกเลิกหมายจับที่ออกไว้ก่อนหน้านี้

โดยน.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยภายหลังรับทราบคำพิพากษาสั้นๆว่า ดีใจมากค่ะ