“พิพัฒน์” มั่นใจขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้แน่นอนวันที่ 1 ต.ค. 67

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

“พิพัฒน์” มั่นใจขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศได้แน่นอนวันที่ 1 ต.ค. 67 เผยเตรียมหารือส่วนราชการอื่น ๆ ช่วยบรรเทาผลกระทบ SME และ กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาสินค้า

  • พิพัฒน์ เตรียมหารือส่วนราชการอื่น ๆ
  • ช่วยบรรเทาผลกระทบ SME
  • กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคาสินค้า

วันที่ 4 พ.ค.2567 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มั่นใจสิ่งที่ประกาศจะขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค. 2567 จะต้องทำให้ได้ เพราะจากการหารือกับนายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน และคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำบางท่าน

มีความเห็นตรงกันว่า ถึงเวลาที่เรา จะต้องปรับค่าแรงของประเทศไทยอีกสักครั้ง และมีความเห็นว่า จะต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค ที่มีการขึ้นล่วงหน้าไปบ้างแล้ว โดยจะไปหารือกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ว่า

ในการประกาศขึ้นค่าแรง ขอให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยควบคุมราคา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ไม่เช่นนั้นการขึ้นค่าแรงที่ 400 จะไม่ได้ประโยชน์ เพราะสินค้าอุปโภค บริโภค ลอยตัวขึ้น ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่น่ากังวลมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีความห่วงใยหากมีการขึ้นค่าแรงผู้ประกอบการจะย้ายฐานการผลิต ว่า ตั้งแต่ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ในครั้งแรก ได้มีการหารือผู้ประกอบการ ในหลายภาคส่วน ซึ่งผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จะมีค่าแรงขั้นต่ำที่เกินกว่า 400 บาทไปแล้ว

แต่จะมีความกังวลในส่วนของ SME ที่อาจจะมีผลกระทบพอสมควร โดยวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะมีการหารือกับสภาหอการค้า สภาอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการอีกหลายสาขาอาชีพ นายกสมาคม SME ว่าอยากให้ทางรัฐบาลช่วยอะไร

“เราจะค่อยๆ ประชุม และค่อยๆ คุยไปทีละสาขาอาชีพ เพราะตอนนี้ เราทำรีเสิร์ชทีเดียวทั้งระบบไม่ทัน อะไรที่กระทรวงแรงงานทำได้ก็จะทำให้เลย แต่หากทำไม่ได้ก็จะไปขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง”  รมว.แรงงาน กล่าว

ส่วนถ้าถามถึงความเห็นภาคเอกชน จะพบว่าสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง โดย ทางด้าน พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ คนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นดาบสองคม บางธุรกิจสามารถปรับขึ้นได้ แต่บางธุรกิจอาจได้รับผลกระทบในเชิงผลเสียมากกว่าผลดี

สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ทั่วประเทศ จะเกิดปัญหากับหลายจังหวัด เนื่องจากยังไม่มีความพร้อม เช่น น่าน แพร่ ซึ่งแทบไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมโรงแรมที่พักมีน้อย หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท เชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่นอน

 “คัดค้านการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศ” รองประธานฯ สภาหอการค้าไทย กล่าวย้ำ และเห็นว่าควรขึ้นค่าแรงในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความเหมาะสม และมีแรงงานคนไทยในสัดส่วนที่มากกว่าแรงงานต่างชาติ ไม่เช่นนั้นเงินจะไหลออกนอกประเทศ ขณะที่ผู้ประกอบการคนไทยแบกรับภาระต้นทุนสูงขึ้น เป็นเรื่องใหญ่ที่จะขอหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

จะมีก็แต่ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ที่สนับสนุนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพราะวันนี้ค่าแรงของแรงงานไทยต่ำจริง ๆ แถมค่าครองชีพสูง ทั้งค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ทำให้คนเหลือเงินในกระเป๋าน้อยเพราะค่าใช้จ่ายสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นต้องดำเนินนโยบายหลายด้านไปพร้อมกันเพื่อให้คนเหลือเงินในกระเป๋ามากขึ้น

อย่างไรก็ดี การขึ้นค่าแรงจะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น ดังนั้นต้องทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้สูงตามไปด้วย เช่น หาตลาดเพิ่ม เพิ่มวงเงินลงทุน แก้กฎหมายให้ทำมาหากินสะดวกขึ้น เข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี (SMEs) ที่ขาดสภาพคล่อง ไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบ หากรัฐบาลแบ่งงบจากดิจิทัล วอลเล็ต หรือขายพันธบัตรรัฐบาลเพื่อเอาเงินมาอัดฉีดให้กลุ่มเอสเอ็มอีให้กลับมาแข็งแกร่ง เติบโตแข็งแรง การจ้างงานก็จะโตขึ้น และเศรษฐกิจระดับฐานรากก็จะมั่นคง

“การขึ้นเงินเดือนต้องทำไปพร้อมกับการเพิ่มทักษะของลูกจ้าง หากขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างเดียว แต่เศรษฐกิจไม่ดี แรงงานไม่มีฝีมือ สุดท้ายก็จะมีแต่ค่าจ้าง ไม่มีคนจ้างงาน แรงงานก็จะกลับตกงานมากขึ้น แทนที่จะเป็นการช่วยเหลือแรงงานอย่างยั่งยืน” ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้าน นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย (TRA) กล่าวว่า สถานการณ์แบบนี้ หากมีการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ อาจเกิดการย้ายโรงงาน ย้ายฐานการผลิตไปอยู่ประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามค่าจ้างต่ำกว่าไทย ฉะนั้น หากมีการปรับขึ้นจริง จะเริ่มเห็นภาพแบบนี้เยอะ

เพราะตอนนี้ผู้ใช้แรงงานในประเทศส่วนใหญ่มาจากเมียนมา เท่ากับว่าตอนนี้เรากําลังเอาค่าจ้างขั้นต่ำไปคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เพราะคนเมียนมาจบปริญญาโท เงินเดือนยังแค่ 12,000 บาทเอง

“มองว่าต่อไป จะเห็นภาพแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาแบบถูกต้อง กับแรงงานต่างด้าว ที่เข้ามาแบบไม่ถูกต้อง ปะปนกันอยู่ในประเทศของเรา เพราะการจะจ้างแรงงานต่างด้าว แบบถูกต้องตามกฎหมายอาจมีค่าใช้จ่ายสูง ประกอบกับ ถ้ามีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท อาจทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก หันไปจ้างแรงงานต่างด้าวแบบไม่ถูกกฎหมาย มากขึ้น เพราะสู้ไม่ไหว และถ้าจะกำหนด ค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะกําหนดตามทักษะ และตามพื้นที่ด้วย ไม่เช่นนั้น อาจไปส่งเสริม ให้คนอยู่นอกระบบเพิ่มมากขึ้น”

นอกจากนี้ นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่เตรียมปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวัน ทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67 ว่า ค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ควรเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ เพราะแต่ละพื้นที่มีเศรษฐกิจต่างกัน มีเพียงไม่กี่ประเทศในโลก ที่ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอัตราเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะเป็นประเทศเล็กๆ

นายธนิต ชี้ว่า หากค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทุกพื้นที่ ก็จะไม่เกิดแรงจูงใจให้ลงทุนในพื้นที่ห่างไกล จะมีการย้ายฐานการลงทุนมากระจุกอยู่ในเมือง

นอกจากนี้การปรับค่าจ้างในอัตราเดียวกันทั่วประเทศมาเป็น 400 บาทต่อวัน ก็จะทำให้มีจังหวัดที่ต้องปรับค่าจ้างแบบกระชาก โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 330 บาท ก็จะทำให้ค่าจ้างขั้นต่ำกระชากขึ้นมากว่า 20% สุดท้ายจะส่งผลกับราคาสินค้าและบริการในระยะยาว

คุณไม่คิดหรือว่ามันจะปรับราคาของ ถ้าค่าแรงขึ้น 2% ก็ไม่กล้าปรับ ทุกคนก็ไม่กล้าปรับกันหมด เพราะตลาดตอนนี้ไม่ค่อยดี แต่ถ้าขึ้นทีเดียว ค่าแรงกระชากไป 16-20% ไม่ปรับก็ตาย ปรับก็เสี่ยงเมื่อตลาดมันลดลง แต่ไม่ปรับคุณตายแน่นอน เจ๊งแน่นอน ของแพงแน่นอน นายธนิต กล่าว

นายธนิตย้ำว่า ค่าจ้างขั้นต่ำควรปรับขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ ตามความเหมาะสมของแต่ละจังหวัด และต้องไม่ปรับขึ้นแบบกระชาก ที่สำคัญต้องไม่เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมือง

ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต้องผ่านคณะกรรมการค่าจ้างหรือไตรภาคี ซึ่งจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 14 พ.ค. นี้ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: https://thejournalistclub.com/economics-minimum-wage-news/258433/

https://www.mol.go.th/