ดีอี เผยข่าวปลอมนโยบายรัฐ ระบาดหนัก เตือนอย่าหลงเชื่อ

นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)
นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลั ดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ดีอี เตือนข่าวปลอม “ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปเสียชีวิต ทายาทรับเงิน 30,000 บาท จาก พม.” อย่าแชร์ หวั่นสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม

  • เตือนอย่าแชร์
  • หวั่นสร้างความเข้าใจผิดให้สังคม

กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พบข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 “ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงิน 30,000 บาท จาก พม.” เตือน อย่าหลงเชื่อข่าวปลอม

วันที่ 18 พ.ค.2567 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 10-16 พฤษภาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,198,487 ข้อความ

โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 183 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 155 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 26 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook จำนวน 2 ข้อความ

รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 165 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 97 เรื่อง

5 กลุ่มข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจ

ทั้งนี้ ดีอีเอส ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 76 เรื่อง

ส่วน กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 33 เรื่อง

ขณะที่ กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 10 เรื่อง

กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 26 เรื่อง

ส่วน กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 20 เรื่อง

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ

รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ

ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ

อันดับที่ 1 : เรื่อง ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เสียชีวิต ทายาทจะได้รับเงิน 30,000 บาท จาก พม.

ขณะที่ อันดับที่ 2 : เรื่อง ขนส่งเปิดทำใบขับขี่ออนไลน์ สำหรับผู้ที่ไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง ผ่านไลน์

ส่วน อันดับที่ 3 : เรื่อง มีการแอบเอาข้าวเก่า 10 ปี ในโกดังมาขายปนกับข้าวดี

สำหรับ อันดับที่ 4 : เรื่อง ปวดประจำเดือน สาเหตุมาจากลมแทรกในมดลูก มดลูกบีบตัว

อันดับที่ 5 : เรื่อง ทำใบขับขี่และต่อใบขับขี่ออนไลน์ทางเพจ Department of Land Transport8

ขณะที่ อันดับที่ 6 : เรื่อง สมุนไพรปึ๋งปั๋ง สูตรลุงนันท์ ช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีกำลัง ผิวพรรณดี กระชุ่มกระชวย กระทรวงสาธารณสุข รับรอง

อันดับที่ 7 : เรื่อง ดื่มแอลกอฮอล์ติดต่อกัน ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายและป้องกันปัญหาสุขภาพ

ส่วน อันดับที่ 8 : เรื่อง กรมอุตุฯ เตือนเฝ้าระวังพายุไซโคลนก่อตัว ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก

ขณะที่ อันดับที่ 9 : เรื่อง 4 วิธีการปฐมพยาบาลเมื่อสำลักอาหาร ตกหมอน ขาเป็นตะคริว และขาชา

ส่วน อันดับที่ 10 : เรื่อง วิธีแก้ไมเกรนให้ลดคาเฟอีน เพิ่มแมกนีเซียม คีโต+IF เพิ่มโซเดียม นวดบริเวณถุงน้ำดี และปรับเอสโตรเจน

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการมากถึง 5 อันดับ โดยส่วนใหญ่รูปแบบการหลอกลวง การแอบอ้างเป็นหน่วยงานของทางภาครัฐ ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด

ทำให้เกิดความวุ่นวาย ตลอดจนการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในสังคม จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร” นายเวทางค์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ดีอี มีความห่วงใยประชาชนในเรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน

และส่งต่อข้อมูลข่าวปลอมเหล่านี้ ก็จะทำให้ได้รับข้อมูลผิดๆ และส่งผลกระทบกับประชาชนที่หลงเชื่อข่าวปลอม หรือสร้างความวุ่นวาย ความเชื่อหรือความเข้าใจผิด ให้กับประชาชนในสังคม

โดยสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ที่ ไลน์ @antifakenewscenter https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 ตลอด 24 ชั่วโมง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ดีอี เตือน ระวังข่าวปลอม Meta ส่งลิงก์ให้กรอกข้อมูลส่วนตัว

เว็บไซต์กระทรวงดิจิทัล