“สุทิน”แจงนโยบายบริหารกองทัพ ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา



“สุทิน”แจงนโยบายบริหารกองทัพ ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อยากให้กองทัพเป็นกองทัพที่ทันสมัย ด้วยขนาดไม่เป็นภาระ และด้วยภารกิจ

  • 4 ปีจากนี้ จะเห็นการเกณฑ์ทหารที่ลดลง
  • ต้องไม่มีการทุจริตในกองทัพ
  • ในปี 2570 จำนวนกำลังพลจะเริ่มลดอย่างชัดเจน

นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม กล่าวชี้แจงในการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภา เมื่อคืนวันที่ 12 กันยายน 2566 ว่า กรณีที่สมาชิกรัฐสภา มีข้อติดใจต่อกรณีคำกล่าวของ นายเศรษฐา ทวีสิน  นายกรัฐมนตรีและรมว.คลังที่ขอใช้คำว่าพัฒนาร่วมกับฝ่ายทหาร แต่ไม่ใช้คำว่าปฏิรูปนั้น ขอชี้แจงเบื้องต้นว่า คำว่าปฏิรูปกับร่วมกันพัฒนานั้นมีความหมายเดียวกัน คือทำให้มันดีขึ้น แต่ที่ไม่ใช้คำว่าปฏิรูปนั้น เพราะวันนี้เราทำงานหวังเป้าหมายให้สำเร็จ ส่วนวิธีการนั้น เราต้องปรับยืดหยุ่นให้เหมาะสมกับบริบทในวันนี้ ฉะนั้น การปฏิรูปหรือทำให้ดีขึ้นฝ่ายเดียวคงไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจะไม่สำเร็จ ดังนั้น ภาษาที่จะสื่อสารให้ทุกคนร่วมมือกันให้สำเร็จจะต่างกับภาษาการสื่อสารที่เผชิญหน้าท้าทาย

สำหรับกระทรวงกลาโหมนั้น สิ่งที่เราคิดและย่อยออกมาจากความต้องการของสังคมคือ อยากให้กองทัพเป็นกองทัพที่ทันสมัย ทันสมัยด้วยขนาด ไม่เป็นภาระ ทันสมัยด้วยภารกิจ และต่อไปนี้กระทรวงกลาโหมต้องมุ่งภารกิจความมั่นคงด้านเศรษฐกิจปากท้องประชาชน ทันสมัยด้วยเทคโนโลยี ทั้งยุทธการและบริหาร เพราะฉะนั้น เป้าหมายของกระทรวงกลาโหมคือ กองทัพต้องทันสมัย กระชับ เข้มแข็ง ภารกิจถูกต้อง

สิ่งที่ต้องทำ

  • ประการแรกคือ จะต้องมีการปรับโครงสร้าง ปรับลดกำลังพลภายใน 4 ปี ปรับกองทัพให้เล็กลงตามสถานการณ์แต่ไม่กระทบต่อศักยภาพ และจำนวนของนายพลจะต้องลดลงในปี 2570
  • ประการที่สอง เรื่องการหยุดการเกณฑ์ทหาร ขอเรียนว่า ใน 4 ปีจากนี้ จะเห็นการเกณฑ์ทหารที่ลดลงจนเกือบไม่มีการเกณฑ์ทหาร
  • ประการที่สาม กองทัพมีเป้าหมาย การพัฒนานำการรบ คือทหารต้องมีบทบาทช่วยพัฒนาเศรษฐกิจสังคม และชุมชน เราจะเห็นทหารออกมาช่วยเหลือประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะเรื่องความยากจน ทหารจะต้องใกล้ชิดประชาชนมากขึ้น
  • ประการที่สี่ กองทัพต้องทันสมัย ต้องนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งในยุทธการและบริหาร เป็น E-office รวมถึงให้ไปศึกษาเรื่องการทำกองทัพไซเบอร์สเปซ
  • ประการที่ห้า เรื่องงบลับ ต้องไม่มีการทุจริตในกองทัพ โดยในนโยบายจะมีการตรวจสอบ มีระบบการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีประสิทธิภาพ

ส่วนประเด็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร มีคำถามว่าทำไมไม่ยกเลิกการเกณฑ์ทหารทันที ต้องขอเรียนว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่าคนไทยต้องเกณฑ์ทหาร และในกฎหมายก็ระบุให้คนไทยต้องเกณฑ์ทหาร แต่กลลไกที่จะเข้าไปเป็นทหารนั้น คือจะให้สมัครเข้าไปหรือเกณฑ์เข้าไป  ถ้าเราหยุดการเกณฑ์ทหารแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็จะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะแม้แต่ในหลายประเทศในยุโรป ที่เขาหยุดการเกณฑ์ทหารโดยสิ้นเชิงแต่สงคราม เขาก็ต้องไปแก้กฎหมายกลับมาสู่การเกณฑ์ทหารอีกครั้ง ดังนั้นเราจึงเปิดช่องว่างนี้ไว้เพราะหากบ้านเมืองเกิดปัญหาก็ยังมีการเกณฑ์ทหารถ้ามีเหตุจำเป็น  ส่วนนักศึกษาวิชาทหารเมื่อจบ รด. ก็ไปเป็นทหารกองหนุนแต่จะทำอะไรไม่ได้มาก ดังนั้น การงดเกณฑ์ทหารที่ดีที่สุด คือ การลดการเกณฑ์ทหารควบคู่ไปกับการรับสมัครเป็นทหารด้วยความสมัครใจ โดยต้องปรับสวัสดิการให้เหมาะสม จูงใจ ให้คนสมัครใจมาเป็นทหารมากที่สุด

  • ประการที่หก เรื่องการลดกำลังพลนั้น ขอเรียนว่าทางกองทัพได้แจ้งให้ทราบชัดเจนว่า ตั้งแต่ปีนี้ เมื่อการรับทหารเข้าประจำการลดลง และนายทหารมีจำนวนปลดเกษียณมากขึ้น โดยในปี 2570 จำนวนกำลังพลจะเริ่มลดอย่างชัดเจน และในอีก 10 ปีข้างหน้า บุคลาการในชั้นนายพล ก็จะลดลงไปตามลำดับ

ดังนั้น วันนี้ในฐานะรัฐบาลพลเรือน ขอให้ท่านเชื่อมั่นว่า เราหนักแน่นในเป้าหมายแต่นุ่มนวลในวิธีการ สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น และเราจะทำงานเพื่อประโยชน์ประชาชนอย่างสูงสุด