กองถ่ายหนังอเมริกันชื่นชอบนโยบายไทย นายกฯ แพทองธารประกาศแคมเปญแคชรีเบต 30% หลังหารือ 7 บิ๊กผู้ผลิตภาพยนต์ คาดกองถ่ายแห่ใช้เงินสร้างหนังในไทยปีหน้าแตะหมื่นล้านบาท
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าเมื่อวานนี้ (อังคาร ที่12 พ.ย. 2567 เวลา 11.00 น. เวลาท้องถิ่นนครลอสแอนเจลิสซึ่งช้ากว่าไทย 15 ชั่วโมง)ที่โรงแรม Beverly Wilshire นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงรับรองเพื่อสร้างเครือข่าย ภาคธุรกิจในต่างประเทศ(networking reception) กับ นาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ชั้นนำของสหรัฐฯเข้าร่วมงาน
นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงการถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทยว่าเป็นหนึ่งในภาคส่วนที่จะส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของไทย และสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมาก ซึ่งไทยได้เรียนรู้จากสหรัฐฯ ที่มีการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ ในทางธุรกิจอันเป็นเศรษฐกิจที่แข็งแรงที่ทรงอิทธิพลที่สุดในโลก
ปี 66 มี 40 กองถ่ายต่างประเทศในไทย สร้างรายได้ 7,000 ล้านบาท
“ปีที่ผ่านมา มีการถ่ายทำภาพยนตร์กว่า 450 เรื่องจาก 40 ประเทศในประเทศไทยซึ่งสร้างรายได้ประมาณ 190 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ซึ่งผู้ผลิตภาพยนตร์สหรัฐฯเป็นกลุ่มนักลงทุนอันดับหนึ่งมีถึง34 เรื่องไปถ่ายทำในสถานที่ต่างๆทั่วประเทศไทย
ทั้งนี้รัฐบาลได้ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และการถ่ายทำภาพยนตร์โดยทบทวนมาตรการส่งเสริมต่างๆ เช่นการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในรูปแบบของการคืนเงินสูงสุด( cash rebate)ที่อัตราร้อยละ 30 และไม่กำหนดเพดานคืนเงินสูงสุดต่อโครงการอีกด้วยซึ่งถือว่าเป็นนโยบายของรัฐบาลไทยในการสร้างแรงจูงใจให้กับนักลงทุนในกลุ่มดังกล่าวเป็นอย่างมากโดยเชื่อมั่นว่าปีต่อไปจะมีเม็ดเงินด้านนี้กว่าหมื่นล้านบาท“นายกรัฐมนตรีกล่าว
ไทยเป็นตัวเลือกการถ่ายหนังที่โดดเด่นหลังเพิ่มแรงจูงใจ
ด้านนายจิรายุกล่าวต่อไปว่า จากนั้น นาย Charles H. Rivkin ประธานและประธานกรรมการบริหารสมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ (Motion Picture Association: MPA) ซึ่งมีธุรกิจสตรีมมิ่งและบันเทิงในเครือ อาทิ Netflix Disney HBO เป็นต้น ได้กล่าวว่านโยบาย ของรัฐบาล ไทยในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการถ่ายทำภาพยนต์ รัฐบาล ยิ่งเพิ่มแรงจูงใจให้กับอุตสาหกรรมภาพยนต์ในระดับสากลทำให้ไทยเป็นตัวเลือกของสถานที่ถ่ายทำภาพยนต์ต่างประเทศ ที่มีความโดดเด่น ในภูมิภาคได้มากขึ้น และจะช่วยรับประกันการลงทุนในอนาคตที่มากขึ้น ทั้งนี้ ยังรู้สึกตื่นเต้นมากหากจะได้ร่วมงานกับประเทศไทยมากขึ้น โดยบริษัทได้เข้ามาลงทุนถ่ายทำภาพยนตร์ในไทย มีการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 ล้าน ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน และช่วยเสริมสร้างความรู้ในการ ถ่ายทำภาพยนตร์และสร้างงานในท้องถิ่น ซึ่งมั่นใจว่าพบปะหารือเพิ่มเติมในวันนี้ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับทั้ง 7 บริษัทที่มาในวันนี้จะสามารถให้การสนับสนุน Soft Power ของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมภาพยนต์ไทยได้เป็นอย่างดี นายจิรายุกล่าว
“สำหรับ ผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทภาพยนตร์ทั้ง 7 บริษัท ที่ได้ร่วมพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี ดังนี้ 1. นายชาร์ลส์ เอช. ริฟกิน(Charles H. Rivkin) ประธานและ CEO สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐฯ 2. นางสาว แคธลีน ทาฟฟ์ (Cathleen Taff) ประธานฝ่ายจัดจําหน่าย, แฟรนไชส์ และการวิเคราะห์ผู้ชม, บริษัท Walt Disney 3. นายเจย์ โรว์ (Jay Roewe) รองประธานอาวุโส ฝ่ายการวางแผนการผลิตและสิ่งจูงใจ บริษัท HBO/HBO MAX และWarner Bros. Pictures 4. นายเวอร์นอน แซนเดอร์ส (Vernon Sanders) หัวหน้าฝ่ายโทรทัศน์บริษัท Amazon/MGM Studios 5. นายคริส มิลเลอร์ (Chris Miller) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัทNBCUniversal Studio Group 6. นายเดวิด ไฮแมน (David Hyman) หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย บริษัท Netflix Studios 7. นางสาวจิล แรตเนอร์ (Jill Ratner) ที่ปรึกษาทั่วไป บริษัท Sony Pictures Entertainment 8. นางสาวแชรอน คีย์เซอร์(Sharon Keyser) รองประธานอาวุโส ฝ่ายความสัมพันธ์กับรัฐบาลและการวางแผนบริษัท Paramount Pictures Corporation“
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ ย้ำ Western Digital รัฐบาลไทยพร้อมลดขั้นตอนสนับสนุนนักลงทุนเต็มที่ ผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เตรียมทุ่มงบทำ R&D