“เศรษฐา”หารือภาคเอกชนของสหรัฐฯ ย้ำไทยพร้อมเป็นฐานการผลิต

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เยี่ยมชมบริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory

“เศรษฐา”หารือภาคเอกชนของสหรัฐฯ ย้ำไทยพร้อมเป็นฐานการผลิต พัฒนา supply chain รัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจอย่างเต็มที่

  • เยี่ยมชมบริษัท Tesla Tesla Fremont Factory
  • หวังว่า บริษัท Tesla จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

วันนี้ (14 พฤศจิกายน 2566 หรือวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 ตามเวลาท้องถิ่นนครซานฟรานซิสโก ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 15 ชั่วโมง)  ภารกิจภายหลังการเดินทางถึงนครซานฟรานซิสโกของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีภารกิจสำคัญกับภาคเอกชนระดับโลกหลายรายเพื่อสนับสนุนความร่วมมือ การค้า การลงทุนระหว่างกัน

โดยในช่วง 10.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะได้เยี่ยมชมบริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory โดยบริษัท Tesla เป็นบริษัทดำเนินธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้าและด้านพลังงานชั้นนำของโลก มีโรงงานตั้งอยู่ที่เมืองเฟรมอนต์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ผลิต Model S, Model 3, Model X, Model Y ทั้งนี้ บริษัท เทสลา (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทยเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 และขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาโอกาสในการขยายการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย

นายกฯ ยินดีสำหรับการพบหารือผู้บริหารบริษัท Tesla และได้มาที่บ้านของเทสลาในวันนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือเพื่อความร่วมมือที่สร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ในอนาคต ทั้งในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานสะอาด นายกฯ หวังว่าความร่วมมือในวันนี้จะตอกย้ำถึงความเป็นศูนย์กลาง EV และพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต พร้อมหวังว่า บริษัท Tesla จะเข้ามาร่วมลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น

จากนั้นในช่วงบ่าย นายกรัฐมนตรีพบหารือกับผู้บริหารภาคเอกชนชั้นนำของสหรัฐฯ สรุปสาระสำคัญดังนี้

บริษัท HP บริษัทฯ ด้านกลุ่มคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลและแล็ปท็อป (PC & Laptop) และกลุ่มเครื่องพิมพ์และอุปกรณ์ขนาดใหญ่ของโลก นายกรัฐมนตรีได้เชิญชวนบริษัทฯ ขยายการลงทุนเพื่อใช้ไทยเป็นฐานการผลิต พัฒนา supply chain และตั้งสำนักงานภูมิภาค รวมทั้งให้เพิ่มการผลิตในไทย ซึ่งไทยมีความพร้อมในด้านระบบสาธารณูปโภค รวมถึงมีนโยบายในการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) จึงอยากเชิญชวนให้มาร่วมเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการศึกษา (Academic) เพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ โดยยังได้กล่าวถึงความคืบหน้าและการพัฒนาโครงการ Landbridge ของไทย พร้อมเชิญชวนบริษัท HP เข้ามาร่วมโครงการฯ ซึ่งมีความสอดคล้องและเป็นประโยชน์ต่อแผนพัฒนา Supply Chain ของบริษัทเป็นอย่างดี ช่วยลดค่าขนส่ง และสามารถทำให้ไทยเป็นฐานการส่งออกที่เหมาะสมเป็นอย่างดีสำหรับบริษัท HP

บริษัท Analog Devices, Inc. หรือ ADI เป็นบริษัทผลิตวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) รายใหญ่ระดับโลกที่มีการออกแบบและผลิตแบบครบวงจร โดยเริ่มตั้งแต่ออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ (Wafer Fabrication) ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor) การเชื่อมประกอบเพื่อผลิตเป็นชิป (Chip) นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสามารถด้านการออกแบบกระบวนผลิตและกระบวนการทดสอบ รวมถึงการผลิตฮาร์ดแวร์และพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อนํามาใช้ในกระบวนการผลิตเองด้วย

นายกฯ สนับสนุนให้ ADI ขยายการลงทุนในไทย ซึ่งมีโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านพลังงานสะอาด และมีศักยภาพการอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมกับบริษัทฯ นายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนการลงทุนของบริษัทอย่างเต็มที่ โดยสถาบันการศึกษาในไทยพร้อมที่จะทำงานกับบริษัทฯ เพื่อพัฒนาหลักสูตรที่เหมาะกับทักษะความสามารถที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบวงจรผลิตแผ่นเวเฟอร์ที่ ADI ต้องการ

โดยในเวลา 16.00 น. นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมงานสัมมนาโครงการ Landbridge พบหารือภาคเอกชนไทย และเข้าร่วมกิจกรรม Networking Reception ในเวลา 18.30 น. ณ โรงแรม Ritz-Carlton