นายกฯ “แพทองธาร” ร่วมงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” หารือจิตอาสาและภาคเอกชน ก่อนส่งมอบของอุปโภค-บริโภค ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแล ขอให้มั่นใจ สั่งการเยียวยาให้รวดเร็ว ขณะภาคเอกชนพร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่
วันนี้ (20 กันยายน 2567) เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังนอก) ทำเนียบรัฐบาล นางสาวแพทองธาร ชินวัตร เป็นประธานในงาน “ประสานพลัง ประสานใจ” เพื่อรับมอบสิ่งของบริจาคอุปโภคบริโภคจากหน่วยงานภาคเอกและภาครัฐเพื่อนำไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ประสบภัยต่อไป โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะจิตอาสา 12 องค์กร ภาคเอกชน ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและดินโคนถล่ม
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรี พูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กรและภาคเอกชน โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวขอบคุณทุกคนที่ให้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที รวมทั้งจิตอาสาต่าง ๆ ด้วย วันนี้ได้มาพูดคุยกันก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน จิตอาสา ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานต่าง ๆ ในพื้นที่ต่าง ๆ “ขอขอบคุณทุกท่าน ณ ที่นี้ด้วย” สำหรับสิ่งของต่าง ๆ ที่เข้าไปในพื้นที่โดยเฉพาะเรื่องอาหารการกิน มีเพียงพอแล้ว
การมาพูดคุยหารือกันวันนี้เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาอะไรได้เพิ่มขึ้นอีก เพราะว่าขณะนี้น้ำจากภาคเหนือได้ไหลลงไปทางภาคอีสานแล้ว เพราะฉะนั้นในวันนี้ ขอให้ทุกคนที่มาร่วมหารือมีข้อมูลอะไร หรือมีอะไรที่จะบอกทางรัฐบาลให้เข้าไปช่วยเหลือก็ขอให้บอกและเสนอได้ โดยรัฐบาลยินดีช่วยเหลือและสนับสนุน หรือมีข้อแนะนำเพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงตรงจุดไหน ก็ขอให้แบ่งปันข้อมูลในวันนี้ ถือว่า “เป็นเวทีที่ดี” ที่จะมาบอกเล่าสู่กันฟังว่า “ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง หรือประชาชนต้องการอะไรบ้าง”
คณะจิตอาสาเสนอแนวทางแก้ไขระยะยาว
จากนั้นนายกฯ พูดคุยหารือร่วมกับคณะจิตอาสา 12 องค์กร และภาคเอกชน โดยตัวแทนสมาคมเจ็ตสกีแห่งประเทศไทย กล่าวขอบคุณนายกฯ พร้อมมีข้อเสนอจากที่ได้ลงพื้นที่และคุยกับชาวบ้านในระยะต่อไปเฟสที่ 3 คือการป้องกันปัญหาในระยะยาวไม่ให้น้ำเข้าแม่สายอีก อยากเสนอให้มีการทำเขื่อนริมแม่น้ำแม่สาย โดยใช้เข็มตอกสองฝั่ง ทำเป็นเขื่อนด้านบนเพื่อให้รถวิ่งริมแม่น้ำได้ เป็นการใส่เกาะชั้นที่ 1 มีแนวประมาณ 2 กิโลเมตรจากด่านศุลกากรแม่สายที่ 1 ยาวจนถึงด่านศุลกากรแม่สายด่านที่ 2 อาจใช้งบประมาณไม่เยอะสามารถทำได้รวดเร็วเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมในครั้งหน้า
ทีมตอบโต้ภัยพิบัติ RDAT มูลนิธิสยามนนทบุรี กล่าวสะท้อนความคิดเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น ทำไมเราไม่มีการรายงานตัวแบบออนไลน์เป็นกู้ภัยแห่งชาติ โดยมีหน่วยงานต่าง ๆ อยู่ในแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ให้รัฐบาลเป็นแกนกลางสั่งการ ซึ่งจะทำงานได้ง่ายไม่ต้องเสียเวลาไปรายงานตัวกับอำเภอ จังหวัด แล้วนั่งรองาน เพราะการรายงานใช้เวลาครึ่งวันกว่าจะได้เข้าพื้นที่ทำงาน ดังนั้นควรจะมีแอพพลิเคชั่นกลางในการจ่ายงานและการขอความช่วยเหลือผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งวันนี้เทคโนโลยีสามารถทำทุกอย่างได้แล้วควรจะพัฒนาในเรื่องนี้ และหากมีแล้วก็ต้องประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบ
ขณะที่ประธานมูลนิธิเพชรเกษม กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการขับเคลื่อนกลุ่มอาสาสมัคร เนื่องจากพวกเราเป็นแขนขาของรัฐบาลอย่างแท้จริง และสิ่งหนึ่งที่อยากได้โดยเป็นการขอความอนุเคราะห์จากรัฐบาล คือให้ยกเว้นภาษีองค์กรการกุศล เนื่องจากเป็นองค์กรที่ทำเพื่อประเทศชาติ โดยให้รัฐบาลพิจารณาว่าองค์กรไหนเข้าเกณฑ์ และขอให้ช่วยประสานงานแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดในการที่ทีมอาสาสมัครเข้าไปช่วยเหลือประชาชน จึงขอให้บูรณาการอาจจะทำเป็นเลนให้เจ้าหน้าที่ 1 เลน และขอให้ดูแลอาสาสมัครที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่และเกิดอุบัติเหตุ
นายศุภชัย เจียรวนนท์ กล่าวว่า ตนคิดว่าสิ่งที่เราต้องรีบทำเป็นเรื่องของสุขภาพของผู้ประสบอุทกภัย นอกจากเรื่องอาหารแล้วต้องมีเรื่องยาป้องกันโรคต่าง ๆ ตนยินดีและเต็มที่ และตนก็ทราบการติดขัดเรื่องการสื่อสาร เราจะเข้าไปช่วยอย่างเต็มที่ เชื่อว่าทั้งทรูและ AIS จะรีบเข้าไปศึกษาจุดยุทธศาสตร์และนำสัญญาณเข้าไป ส่วนเรื่องแอพพลิเคชั่นก็มีความพร้อม หากทางภาครัฐ ประชาสังคม จะนำไปใช้งานสื่อสารได้อย่างเป็นทางการ โดยแจ้งประสานงานมาได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตรียมเคาะงบกลาง 3,045 ล้าน ช่วยน้ำท่วม เข้า ครม. พรุ่งนี้