“เศรษฐา”คิกออฟแก้หนี้นอกระบบติวเข้มผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้กำกับ

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ

“เศรษฐา”คิกออฟแก้หนี้นอกระบบติวเข้มผู้ว่าฯ นายอำเภอ ผู้กำกับฯ ทั่วประเทศ ย้ำเป็นภารกิจที่ยาก ขอให้ร่วมมือช่วยกันกำจัด “การค้าทาสยุคใหม่”

  • แนะใช้ทั้ง “ไม้อ่อน”และ “ไม้แข็ง” ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ
  • ประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าหรือสถานการณ์การดำเนินการ
  • ที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา

วันนี้ (8 ธันวาคม 2566) ณ ห้องรอยัลจูบิลี บอลรูม อาคารชาเลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ

โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วม

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล และผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด รวมไปถึงผู้กำกับการสถานีตำรวจทั่วประเทศ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เชิญทุกท่านมากระชับอำนาจให้ แต่มาขอแรงจากทุกท่านทำประโยชน์ให้พี่น้องประชาชน มาช่วยกันทำให้การค้าทาสในยุคใหม่หมดไปจากประเทศไทยด้วยกัน ซึ่งพี่น้องเพื่อนร่วมชาติจำนวนมากมีความทุกข์ ถูกพรากอิสรภาพในการใช้ชีวิตเพราะมีหนี้สินจองจำพวกเขาอยู่ พวกท่านในฐานะข้าราชการฝ่ายปกครองที่ทำหน้าที่บำบัดทุกข์บำรุงสุข และเจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้พิทักษ์สันติราษฎร์

เชื่อมั่นว่าพวกท่านสามารถช่วยพี่น้องประชาชนให้มีอิสรภาพ ต่อชีวิต สร้างขวัญและกำลังใจให้ได้ ซึ่งในฐานะนายกฯ จำเป็นต้องขอพึ่งพาความรู้ความสามารถของพวกท่าน ช่วยให้พี่น้องประชาชนเป็นอิสระ หลุดพ้นพันธนาการจากหนี้นอกระบบนี้ รัฐบาลได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นวาระแห่งชาติ ที่พวกเราทุกคนจะต้องมาร่วมแรงร่วมใจกัน แก้ไขปัญหานี้ให้กับพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินที่สูงอย่างไม่เป็นธรรม การทวงถามหนี้ที่มีลักษณะคุกคามขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้าย ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและความสงบเรียบร้อยของสังคม

 “นี่ไม่ใช่การแก้ไขปัญหาเพื่อภาพลักษณ์ของรัฐบาล ของตนเอง หรือของหน่วยงานท่าน แต่นี่คือการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชน ให้สามารถฟื้นกลับมาใช้ชีวิตโดยไม่ต้องหวาดระแวง และมีรอยยิ้มได้โดยทั่วกัน”นายเศรษฐากล่าว

กระบวนการเกี่ยวกับการร้องเรียน ช่องทางแรก กระทรวงมหาดไทยได้เปิดให้มีการลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบผ่านศูนย์ดำรงธรรม ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอ รวมถึงเบอร์ติดต่อ 1567 ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม ที่ผ่านมา ถึงวันนี้มีลูกหนี้ที่มาลงทะเบียนแล้วกว่า 71,000 คน รวมยอดมูลหนี้นอกระบบกว่า 3,500 ล้านบาท

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีศูนย์ป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ สายด่วน 1599 และประชาชนก็สามารถเข้าไปที่โรงพักใกล้บ้านเพื่อแจ้งเหตุได้ ในส่วนของสำนักนายกรัฐมนตรี มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สายด่วน 1111 ที่ประชาชนทั่วประเทศสามารถร้องเรียนความเดือดร้อนปัญหาหนี้นอกระบบได้

โดยเมื่อรับเรื่องร้องเรียนแล้ว ข้อมูลของประชาชนจะมีการประสานเชื่อมโยงฐานข้อมูลจากทุกช่องทางเข้ามาด้วยกัน เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ได้รับการดูแลไม่ให้ตกหล่น และเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่มีการบิดเบือน ประชาชนที่ลงทะเบียนก็จะได้รับเลข Reference Number ในทุก ๆ กรณี เพื่อตรวจสอบความถูกต้อง โดยประชาชนสามารถติดตามความคืบหน้าหรือสถานการณ์การดำเนินการที่ได้ร้องเรียนไว้บนเว็บไซต์ของภาครัฐได้ตลอดเวลา

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้ทุกคนร่วมกันเป็นกระบอกเสียง ช่วยกันสื่อสาร เชื้อเชิญให้ประชาชนที่มีความเดือดร้อนเข้ามาลงทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นการทวงหนี้จากแก๊งหมวกกันน็อค เว็บไซต์ให้กู้ยืมออนไลน์ หรือเจ้าหนี้นอกระบบในรูปแบบอื่น ๆ ทุกการสื่อสารของพวกท่าน ล้วนเป็นกำลังสำคัญที่จะทำให้การแก้ไขหนี้นอกระบบประสบผลสำเร็จ

หลังจากที่เรื่องร้องเรียนเข้ามาในระบบแล้ว ส่วนกลางจะวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจัดประเภทเรื่องที่ร้องเรียน ก่อนส่งไปให้ในแต่ละพื้นที่ดำเนินการต่อ ซึ่งถ้าพบว่ามีกรณีที่องค์ประกอบความผิดครบ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าพนักงานอัยการสามารถดำเนินการจับกุมและดำเนินคดีได้ทันที ย้ำว่าถ้าองค์ประกอบความผิดครบ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด ไม่ได้มีการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด

แต่เชื่อว่าในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหนี้และลูกหนี้ก็ยังพร้อมที่จะประนีประนอมกันได้ ก็ขอให้เชิญเข้ามาไกล่เกลี่ยกัน ให้เข้ามาร่วมกันหาทางออกอย่างสันติวิธี และถูกต้องตามกฎหมาย จัดทำเป็นสัญญาประนีประนอมต่อกัน ตามแบบฟอร์มที่กระทรวงมหาดไทยได้จัดเตรียมไว้ และกำหนดอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลา และงวดผ่อนชำระหนี้ที่เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละราย ซึ่งตนเองเชื่อว่าจะเป็นทางออกที่ดีทั้งกับเจ้าหนี้และลูกหนี้

การดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่รับเรื่อง สำนักนายกรัฐมนตรีจะติดต่อติดตามผล เพื่อดูว่าทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้สามารถดำเนินการตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้หรือไม่ หากยังพบปัญหาไม่สามารถดำเนินการตามสัญญาฉบับใหม่ได้ ก็จะขอเชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้เข้ามาร่วมกันแก้ไขข้อตกลงให้เหมาะสมกันอีกครั้ง หรือถ้าในภายหลัง พบว่ายังมีการข่มขู่ หรือเจ้าหนี้ไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาไกล่เกลี่ยฯ จนเป็นเหตุให้ลูกหนี้เดือดร้อน พนักงานฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องร่วมกันบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป

โดยกระบวนการทั้งหมดนี้ ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิลูกหนี้ หรือเจ้าหนี้ในการใช้สิทธิอื่น ๆ ตามกฎหมาย หรือกระบวนการยุติธรรมอื่น ๆ แต่ขอย้ำว่าเป็นกระบวนการที่เจ้าหนี้และลูกหนี้ ร่วมกันสมัครใจเข้ามาเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยรัฐยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือทั้งในชั้นการไกล่เกลี่ย การให้คำแนะนำ และการให้ความช่วยเหลือจากสถาบันการเงินของรัฐ เข้าใจดีว่าในหลายครั้ง ลูกหนี้ตั้งใจที่จะฟื้นฟูศักยภาพ และต้องการช่องทาง แหล่งเงินอื่น ๆ นอกเหนือจากเจ้าหนี้ที่กล่าวไปกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐจะเข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ตามโครงการที่ได้จัดเตรียมไว้

“ขอให้ทุกท่านศึกษาและทำความเข้าใจกระบวนการปฏิบัติงานซึ่งจะเป็นมาตรฐานในการทำงานให้ถ่องแท้ ซึ่งประกอบไปด้วยขั้นตอนตั้งแต่การรับเรื่อง การช่วยเหลือ การไกล่เกลี่ย การบังคับทางกฎหมาย และอื่นๆ รวมทั้งขอให้ทั้งเจ้าหน้าที่มหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง ร่วมกันศึกษาในรายละเอียดของกันและกัน ให้เข้าใจถึงความรับผิดชอบของทุกภาคส่วน เพื่อให้การทำงานไม่ซ้ำซ้อน บูรณาการได้จากทุกฝ่าย” นายกรัฐมนตรีกล่าว

ปัญหาที่ท่านอาจจะพบ คือการที่เจ้าหนี้หรือลูกหนี้ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย อาจจะต้องออกไปพบ ไปพูดคุย เชิญชวน ซึ่งเป็นมาตรการที่เรียกว่าไม้อ่อน เพื่อให้พวกเขาสมัครใจเข้ามาสู่กระบวนการ และในหลาย ๆ ครั้ง เจ้าหน้าที่อาจจะต้องเป็นผู้ใช้อำนาจตามกฎหมายในการบังคับ ซึ่งเป็นไม้แข็ง ในการนำเจ้าหนี้หรือลูกหนี้เข้าสู่ระบบ

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ขอให้ทุกคนไม่ยอมแพ้ ไม่ท้อถอย ไม่หยุดช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะในกรณีที่พวกเขาไม่ยอมสมัครใจเข้าสู่กระบวนการ ซึ่งตนเองขอมุ่งเป้าไปที่กลุ่มเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่มีพฤติการณ์กระทำผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนนานาชนิด ต้องแก้ปัญหาให้ได้ อย่าปล่อยผ่าน ทุกคนต้องต้องนำความรู้ด้านการทำสัญญาประนีประนอม ที่ต้องระบุรายละเอียดเจ้าหนี้และลูกหนี้ให้ชัดเจน กำหนดมูลหนี้ การคิดอัตราดอกเบี้ย การยกเลิกเพิกถอนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเงื่อนไขอื่น ๆ ในการบังคับคดีหรือสิทธิในทางศาลได้โดยถูกต้องตามกฎหมาย ขอฝากให้ใช้ศาสตร์และศิลป์อย่างตรงไปตรงมาในการดำเนินงานนี้

นอกจากนี้การทำงานจะต้องมีเป้าหมาย ขอประกาศเป้าหมายว่า หนี้นอกระบบจะต้องได้รับการแก้ไขโดยเด็ดขาด ทั้งฝ่ายปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดหรือ KPI ที่เหมาะสมและกรอบเวลาที่ชัดเจน โดยขอมอบหลักการกว้าง ๆ ดังนี้ จะต้องไม่ตั้งเป้าหมายที่ “ง่ายเกินไป” จนไม่สามารถวัดผลอะไรได้ และไม่ “ยากเกินไป” จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติงานรู้สึกไม่อยากเริ่มทำ

สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะต้องกำหนดระยะเวลาดำเนินการในการจับกุมเพื่อดำเนินการให้เร็วที่สุด และระยะเวลาการทำสำนวนการสอบสวน ทางกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายปกครอง ควรกำหนดสัดส่วนเรื่องที่เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และเรื่องที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ร่วมกันทำสัญญาประนีประนอมได้สำเร็จ กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการแต่ละขั้นตอน ทั้งในชั้นรับเรื่องร้องเรียนถึงการเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย และชั้นการทำสัญญาประนีประนอม ไว้ให้ชัด และไม่นานจนเกินไป โดยกรอบข้างต้นเป็นกรอบกว้าง ๆ ที่ผู้บริหารจะต้องช่วยกันนำไปย่อยเป็นเป้าเล็ก ๆ ให้เป็นความสำเร็จ เพื่อให้ปัญหาที่ระบบลดน้อยลงไป