

“นายกฯ แพรทองธาร” ชูโอกาสไทย – อาเซียน 4 ประเด็นรับโอกาสเติบโต ชี้ไทยมีโอกาสรับการลงทุนทั้ง AI ดาต้าร์เซนเตอร์ เสนอตัวเป็นคลังความมั่นคงทางอาหาร พร้อมใช้เวทีอาเซียนหนุนสันติภาพในเมียนมา
นางสาวแพรทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “พลิกเศรษฐกิจไทยผงาดอาเซียน” ในงาน“ASEAN ECONOMIC OUTLOOK 2025” จัดโดย“กรุงเทพธุรกิจ” วันนี้ (7 ต.ค.) ว่าหลังจากที่ได้มีการไปร่วมประชุมเวทีระดับผู้นำกรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue : ACD) ครั้งที่ 3 ที่ประเทศการ์ต้าในเวทีระดับประเทศต่อไปในฐานะนายกรัฐมนตรีที่จะได้มีการเดินทางเข้าไปร่วมประชุมก็คือเวทีสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ สสป.ลาวตั้งแต่วันที่ 8 ต.ค.นี้
ศักยภาพของอาเซียนและโอกาสของประเทศไทย
มีความตั้งใจที่จะไปสื่อสารโอกาสของอาเซียนและโอกาสของประเทศไทยใน 4 ประเด็นได้แก่
1)ปัจจุบันอาเซียนถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีการเติบโตที่สูงมากปัจจุบันเรามีขนาดเศรษฐกิจ 36 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 119 ล้านล้านบาท
มีการเติบโตสูงถึง 4 – 5% ต่อปี ถือเป็นตลาดที่มีการเติบโตและมีขนาดใหญ่มากติด 1 ใน 5 ของโลก โดยมีขนาดประชากรรวมกันถึง 670 ล้านคน
นอกจากนี้ตลาดของอาเซียนยังถือเป็นตลาดที่น่าลงทุนที่สุดในโลกโดยนักลงทุนจะทราบดีว่าไม่ว่าจะเกิดสถานการณ์ใดๆอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่สามารถรองรับการลงทุนได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดๆในโลกก็ตาม
จะสื่อสารให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น
ทั้งนี้ในการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่สปป.ลาวในวันที่ 8 ต.ค.นี้สิ่งที่อยากจะสื่อสารอย่างหนึ่งก็คืออยากให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้นซึ่งแม้ว่าเราจะมีประชากรประมาณ 66 ล้านคน แต่หากลงทุนในประเทศไทยก็สามารถที่จะเชื่อมโยงการลงทุนไปในอาเซียนที่มีขนาดประชากรมากถึง 670 ล้านคน ซึ่งต้องมีการหารือกันกับชาติสมาชิกในเรื่องของความเชื่อมโยง การลดกฎระเบียบ และมาตรการภาษีระหว่างกันที่เหมาะสม
สำหรับโอกาสในการลงทุนขณะนี้เราเห็นการลงทุนในเรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน ขณะที่ทั่วโลกมีความสนใจในเรื่องของการลงทุนในเรื่องของดาต้าเซนเตอร์และ AI ซึ่งเทคโนโลยีด้านนี้ทั่วโลกมีการสนใจลงทุนมากและของไทยเราก็พึ่งมีการประกาศการลงทุนจากบริษัทกูเกิล โดยตนเองได้มีการนำเรื่องนี้ไปเล่าที่เวที ACD ซึ่งหลายประเทศมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุนเช่นกัน รวมทั้งได้บอกด้วยว่าประเทศไทยยังมีการลงทุนเพิ่มในเรื่องของเซมิคอนดักเตอร์เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ด้วย โดยถือเป็นอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ และการสร้างอาชีพใหม่ๆในประเทศไทย
ไทยอยากสนับสนุให้อาเซียนเป็นพื้นที่กลางในการเจรจาสันติภาพ
2.อาเซียนเราถือว่าเป็นภูมิภาคที่มีความสงบสุข เรายึดมั่นในเรื่องของ Peace& Prosperity ซึ่งการหารือในกรอบความร่วมมือของอาเซียนที่เรามีการริเริ่มมาตั้งแต่ 57 ปีก่อนเราก็เน้นที่ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเสรี โดยที่ผ่านมาในเวทีที่ตนเองได้มีการประชุมร่วมกันกับประธานาธิบดีของอิหร่าน ในการประชุม ACD ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยได้แสดงจุดยืนเรื่องของการสนับสนุนการเจรจาเรื่องของสันติภาพ รวมทั้งการเคารพในกฎหมายระหว่างประเทศ โดยไทยอยากสนับสนุให้อาเซียนเป็นพื้นที่กลางในการเจรจาซึ่งที่ผ่านมาได้มีการเปิดพื้นที่ให้มีการเจรจาระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศของจีน กับที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
ทั้งนี้ในเวทีประชุมผู้นำอาเซียนไทยจะนำประเด็นเรื่องของสถานการณ์ในเมียนมาไปหารือกับผู้นำประเทศต่างๆเพื่อส่งเสริมให้เกิดสันติภาพ รวมทั้งการเป็นประธานอาเซียนของอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในปี 2568 ประเทศไทยก็จะสนับสนุนในเรื่องการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างต่อเนื่อง
เชื่อมโยงการขนส่งทำให้อาเซียนมีโอกาสทางการค้าและเศรษฐกิจมากขึ้น
3.การเชื่อมโยงทางภาคขนส่ง ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้อาเซียนมีโอกาสทางการค้าและเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทยส่งเสริมการเชื่อมโยงเส้นทางทั้งทางถนน รถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง การพัฒนาท่าเรือ และแลนด์บริดจ์ที่จะเชื่อมโยงท่าเรือระหว่างอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งจะต้องมีการเดินหน้าเรื่องต่างๆที่เป็นแผนงานของแต่ละประเทศเพื่อให้สามารถสร้างการเชื่อมโยงในการขนส่งสินค้าและการเดินทางได้โดยสะดวก ซึ่งการส่งเสริมการเชื่อมโยงการขนส่งจะเพิ่มโอกาสในการส่งสินค้าเกษตรจากไทยไปยังประเทศจีนซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรของไทยมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
การส่งเสริมนโยบายสิ่งแวดล้อม
4.การส่งเสริมนโยบายสิ่งแวดล้อมซึ่งถือว่าเป็นนโยบายที่สำคัญสำหรับทั่วโลก เนื่องจากปัจจุบันมีปัญหาเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศที่มีความผันผวนอย่างมากซึ่งไม่ใช่แค่ภาวะโลกร้อนแต่เป็นโลกเดือด ซึ่งนอกจากประเทศไทยจะมีเป้าหมายในการเข้าสู่ภาวะการเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ในการบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมเรื่องภัยพิบัติรัฐบาลต้องมีการเตรียมแผนเป็นแผนสำรอง ABCD เอาไว้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ รวมทั้งต้องมีแผนระยะยาวที่จะช่วยให้ประชาชนรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศ นอกจากนี้ประเทศไทยจะให้ความสำคัญเรื่องของคาร์บอนเครดิต ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยในระยะต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : นายกฯ แพทองธาร เยือนสปป .ลาว ประเทศแรกในอาเซียน