“พิชัย” ถกเลขาฯ OECD เตรียมความพร้อมร่วมวงสมาชิกตามกรอบ 5 ปี ดันกฎหมายบีโอไอ รับกติกาภาษีใหม่ คาดคลอดปีหน้า คาดถกมาตรการทางด้านภาษี ในบอร์ดบีโอไอ 1 พ.ย.นี้
ทำเนียบรัฐบาล นายมาทีอัส คอร์มันน์เลขาธิการองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา(Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เข้าพบหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก่อนจะเดินทางเข้าพบน.ส.แพทองธารชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในช่วงเที่ยงวันนี้
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และรมว.คลัง กล่าวภายหลังการหารือว่า จากการหารือประเทศไทยยังมีงานต้องทำอีกหลายอย่างให้เสร็จสิ้นภายในช่วงเวลา 5 ปี ก่อนที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกOECD อย่างเป็นทางการ ทั้งเรื่องกฎหมายและแนวทางการปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่จะต้องสอดคล้องกับมาตรฐานของ OECD
โดยเฉพาะเรื่องของนโยบายทางด้านภาษี ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) อยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการทางด้านภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับกติกาภาษีใหม่ของOECD ซึ่งได้ประกาศการบรรลุข้อตกลงเรื่องอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากบริษัทข้ามชาติทั่วโลก ในอัตรา 15% ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดในการประชุมคณะกรรมการบีโอไอ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นี้ จะมีการหารือถึงมาตรการดังกล่าว เพราะจะต้องประกาศใช้ในปีหน้า
“เรื่องของภาษีเป็นความจำเป็น เพราะไทยจะต้องทำตามกติกาภาษีใหม่ที่ให้เก็บ 15% กับบริษัทขนาดใหญ่ เพราะมาตรการเดิมของบีโอไอ ให้สิทธิประโยชน์ด้านการยกเว้นภาษี แต่ท้ายที่สุดบริษัทเหล่านั้นก็ต้องเสียภาษีต้นทาง ดังนั้นจึงอยากเซ็ตกติกาใหม่กับบีโอไอ เช่น ถ้าลงทุนพัฒนาทักษะทรัพยากรมนุษย์ หรือใช้เทคโนโลยีสีเขียว ก็มีมาตรการออกมาช่วยโดยจะออกมาเป็นกฎหมายที่จ่ออยู่แล้ว เพื่อให้มีผลใช้บังคับได้ในปี 2568” นายพิชัย ระบุ
การฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ
นายพิชัย กล่าวว่า ในส่วนประเด็นด้านการเติบโตและด้านศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้น จากการหารือก็เห็นว่าเศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นการฟื้นตัวในระยะต่อไปต้องฟื้นตัวอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ซึ่ง OECD ก็มีตัวอย่างของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ประเทศไทยสามารถนำวิธีคิดและวิธีทำงานมาแลกเปลี่ยนกันต่อไป
“วันนี้จะอยู่แบบเดิมไม่ได้ต้องอยู่แบบประสิทธิภาพ และคุณภาพซึ่งวิธีคิด และวิธีทำงานที่สอดคล้องกันของประเทศสมาชิกจะช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันได้ง่ายขึ้น และเป็นผลดีกับไทยที่มีปัญหาการทำงาน มีปัญหาซ้ำซ้อนเรื่องค่าใช้จ่ายภาครัฐมาก โดยเรื่องทั้งหมดนั้น เรามีงานต้องทำอีกมากตามเป้าหมายการทำงานในช่วง 5 ปีจากนี้” นายพิชัย ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “พิชัย” หารือ ธปท. ตั้งธงวางกรอบเงินเฟ้อ ดูแลอัตราแลกเปลี่ยน ให้ระดับที่เหมาะสม