กสทช. กำชับค่ายมือถือดูแล-อินเตอร์เน็ตพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือให้ดี

กสทช.


สำนักงาน กสทช. กำชับผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดูแลเครือข่ายสัญญาณพร้อมให้บริการโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ประสบภัยภาคเหนือ

  • ดูแลเครือข่ายสัญญาณ
  • พร้อมให้บริการโทรศัพท์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ได้แก่ จ.แพร่ น่าน พะเยา และเชียงราย

และต้องติดตามเฝ้าระวังอีก 43 จังหวัด ตามข้อมูลของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในช่วงวันที่ 24 – 30 ส.ค. 2567

ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ภาค 3 ซึ่งดูแลในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ได้ส่งเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์และตรวจสอบโครงข่ายสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยในพื้นที่ความรับผิดชอบภาคเหนือ

พบว่า มีสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Site) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัยได้รับผลกระทบ 70 สถานี จากจำนวนทั้งหมด 2,869 สถานี

โดยส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากไฟฟ้าดับ จึงได้ประสานกับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสถานี ให้นำเครื่องปั่นไฟมาใช้กับสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไฟฟ้าดับ เพื่อให้ประชาชน และเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าวสามารถติดต่อสื่อสารในภาวะฉุกเฉินได้ โดยสำนักงาน กสทช. ภาค 3 จะติดตาม และรายงานผลเป็นระยะจนกว่าสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติต่อไป

พร้อมทั้งกำชับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมในการดูแลและปรับปรุงโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยสามารถใช้งานการสื่อสารได้อย่างต่อเนื่อง

และขอให้ติดตามรายงานสถานการณ์ จากกรมอุตุนิยมวิทยา และ ปภ. อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือและใช้เป็นข้อมูลในการเตรียมความพร้อมต่อไป

  • ประสานนำเครื่องปั่นไฟมาใช้ก่อน

นอกจากนี้ ศูนย์สายลมของสำนักงาน กสทช. ยังเป็นแม่ข่ายในการติดต่อสื่อสารและประสานงานให้กับสมาคม วิทยุสมัครเล่นในพื้นที่ประสบสาธารณภัยในการให้ความร่วมมือกับ ปภ. จังหวัดในพื้นที่ และจังหวัดใกล้เคียงเพื่อให้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

“ขณะนี้ได้ประสานไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ นำเครื่องปั่นไฟมาใช้ไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการสื่อสาร ของประชาชน

กรณีไฟฟ้าดับและส่งผลกระทบต่อสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อให้สามารถใช้โทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตติดต่อสื่อสารได้ต่อเนื่อง รวมทั้งให้รายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด” นายไตรรัตน์ กล่าว

  • สทนช. ลุยแก้น้ำท่วมภาคเหนือ

ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือ ณ จ.พิษณุโลก และ จ.แพร่ พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

โดยเดินทางไปยัง จ.พิษณุโลก เพื่อติดตามผลการดำเนินการมาตรการฤดูฝน ปี 67 ในพื้นที่ ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 3 อ.เมืองพิษณุโลก

ก่อนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำยม – น่านตอนล่าง และบางระกำโมเดล รวมทั้งติดตามโครงการแก้ไขปัญหาอุทกภัยระยะเร่งด่วนในพื้นที่เจ้าพระยาใหญ่ จากนั้นได้เดินทางไปยัง จ.แพร่

เพื่อติดตามผลการดำเนินการมาตรการฤดูฝน ปี 67 ในพื้นที่ ณ ห้องประชุมโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่ยม ต.นาจักร อ.เมืองแพร่ และลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำบริเวณที่ประสบปัญหาอุทกภัย

เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยว่า สทนช. ได้รับมอบหมายจากนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ให้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยในขณะนี้

โดได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม – น่าน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณตัวเมืองสุโขทัย

เนื่องจากมีมวลน้ำที่กำลังไหลลงมาจาก จ.แพร่ โดยจะมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำไปยังลุ่มน้ำน่าน ในกรณีมวลน้ำมาเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) จะระบายน้ำไป

ทางฝั่งขวา คลองน้ำโจน ในอัตราสูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ระบายน้ำไปทางฝั่งซ้าย ทางคลองยม – น่าน ในอัตราสูงสุด 300 ลบ.ม. ต่อวินาที และจะระบายน้ำผ่านทางคลองยมสายเก่า ในอัตราสูงสุด 200 ลบ.ม. ต่อวินาที ทั้งนี้ สทนช. จะประสาน

ไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาทางรถไฟกีดขวางทางน้ำซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำทางคลองยม – น่าน โดยการขุดเจาะขยายทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น รวมถึงจะมีการหามาตรการเพื่อรองรับปัญหาด้านการสัญจร ที่จะกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ด้วย

  • ตรวจสอบสภาพความพร้อมของคันกั้นน้ำ

พร้อมกันนี้ ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบสภาพความพร้อมของคันกั้นน้ำต่าง ๆ ตลอดแนวแม่น้ำยมอย่างเคร่งครัด และหากพบจุดเสี่ยงให้เร่งเสริมความมั่นคงแข็งแรงโดยเร็วที่สุด ในส่วนของพื้นที่การเกษตร ได้มอบหมายให้ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย

เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้เกษตรกรได้รับทราบ เพื่อให้สามารถเร่งเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา

หวังลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และให้เร่งสนับสนุนกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลผลิตเข้าให้ความช่วยเหลือด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : เตือน ปชช. ให้ติดตามการแจ้งเตือนน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด

: เว็บไซต์กสทช.