พาณิชย์ ผนึก ธ.ก.ส. ลงพื้นที่จังหวัดเชียงราย เสริมความรู้หลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกรในพื้นที่ โดยเฉพาะการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ
- นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
- ขอสินเชื่อ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวง พาณิชย์ กล่าวว่า กรมฯ ได้ผนึกกำลังกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. นำผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ และโครงการธนาคารต้นไม้ลงพื้นที่ อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา
เพื่อเสริมความรู้เรื่องกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจแก่เกษตรกรในพื้นที่ รวมทั้งรายละเอียดการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกในพื้นที่มาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อกับ ธ.ก.ส. ในกิจกรรม ‘ส่งเสริมหลักประกัน สานฝันธุรกิจไทย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม’
ทั้งนี้ การต่อยอดและส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้ยืนต้นและอนุรักษ์ป่าไม้ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ยังช่วยต่อยอดทำธุรกิจหรือดำรงชีวิตประจำวัน ด้วยการสามารถนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น
โดยไม้ยืนต้นทุกประเภทสามารถนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อได้ตามข้อตกลงระหว่างผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) กับ ผู้ให้หลักประกัน (เกษตรกรผู้ปลูกไม้ยืนต้น)
นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำไม้ยืนต้นนั้นไปต่อยอดสร้างรายได้อื่นๆ เช่น เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิต เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมได้ซื้อไปเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามกลไกของตลาดซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เข้าสู่ชมชุนและครอบครัวเพิ่มเติม
โดยนับตั้งแต่มีการออกกฎกระทรวงให้นำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ในปี 2561 จนถึงในปัจจุบัน มีการจดทะเบียนไม้ยืนต้นเป็นหลักประกันทั่วประเทศเพียง 22 จังหวัด และมีผู้นำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาเป็นหลักประกันธุรกิจแล้ว 154,470 ต้น มูลค่ารวม 145 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค. 67)
ซึ่งมีจังหวัดภาคเหนือเพียง 4 จังหวัดคือ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และอุทัยธานี ซึ่งยังขาดเชียงราย ดังนั้น กรมฯ และ ธ.ก.ส. จะร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนสร้างความรู้ความเข้าใจให้เกษตรกรและประชาชน สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจต่อไป
- จัดสัมมนา “ปลดล็อคศักยภาพ สู่อนาคต”
นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ นายสถาพร ร่วมนาพะยา รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นประธานเปิดการอบรม “ปลดล็อคศักยภาพ สู่อนาคต” ณ โรงแรมเวสต์เกต เรสซิเดนซ์ ทั้งนี้ กรมฯ มีภารกิจสำคัญในการส่งเสริม และสนับสนุนการประกอบธุรกิจในทุกระดับทั้งผู้ประกอบการรายย่อย (Micro SME) ผู้ประกอบการ SME
และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ที่อยู่ในการส่งเสริมพัฒนาของกระทรวงพาณิชย์ โดยมุ่งสร้างองค์ความรู้ด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์การบริหารจัดการธุรกิจ และการตลาด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการเชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจเพื่อให้เกิดพลัง และช่วยขับเคลื่อนพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ให้เติบโต มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาศักยภาพและยกระดับความสามารถให้ผู้ประกอบการ SME และเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club ทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงโอกาสทางการค้าใหม่ๆ และมีช่องทางการตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย โดยในปี 2567 กรมฯ ได้กำหนดแผนในการขับเคลื่อนผ่านกิจกรรมต่างๆ ดังนี้
1) การส่งเสริมโอกาสทางการค้าและการตลาด ผ่านการจัดแสดงและจำหน่ายสินค้า จำนวน 2 ครั้ง
ครั้งที่ 1 งาน Biz Club Fair 2024 By DBD ณ ลานกิจกรรม ชั้น B ศูนย์การค้าซีคอนบางแค กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 – 11 มีนาคม 2567 มีธุรกิจเข้าร่วมออกบูธจำนวน 51 ราย เกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ รวม 51 คู่
ครั้งที่ 2 อยู่ระหว่างเตรียมการจัดงาน ณ ลานโปรโมชั่น ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวสต์เกต ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 2 กันยายน 2567 ตั้งเป้าหมายมีผู้ประกอบการเข้าร่วมออกบูธไม่น้อยกว่า 54 รายเกิดการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ ไม่น้อยกว่าจำนวน 50 คู่
2) การจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ ‘พลิกโฉมธุรกิจ พิชิตโอกาส’ เพิ่มศักยภาพให้กลุ่มประธานและผู้บริหารเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club เพื่อร่วมกันกำหนดแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ 6 – 7 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรมโพธิ์วดล รีสอร์ท แอนด์ สปา จังหวัดเชียงราย มีผู้เข้าร่วมสัมมนาฯ จำนวน 122 ราย
สำหรับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระหว่างวันที่ 22-23 สิงหาคม 2567 เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่กรมฯ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนตามแผนงานในปี 2567 โดยเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้และขยายโอกาสทางการค้า
และระดมความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมพัฒนากลุ่มสมาชิกเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club
- เสริมสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่
ซึ่งมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย 1) การสัมมนาเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “ปลดล็อคศักยภาพ สู่อนาคต” เพื่อสร้างองค์ความรู้สมัยใหม่ด้านการตลาด เทคนิคการนำเสนอ (Pitching) การสร้างแบรนด์ Online Marketing และการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยกลยุทธ์การตลาด AI และ Big Data
2) การเจรจาธุรกิจ (Business Matching) เพื่อสร้างโอกาสทางการค้า และคู่ค้ารายใหม่ 3) การระดมความคิดเห็น เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมพัฒนา Biz Shop พัฒนาแหล่งจำหน่ายสินค้าแต่ละพื้นที่ให้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าคุณภาพดีประจำจังหวัดที่สามารถเชื่อมโยงต่อยอดระหว่างกัน ทำให้เกิดการกระจายสินค้าอย่างทั่วถึง
สร้างการรับรู้ในผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะภายในพื้นที่ ซึ่งเป็นการขยายตลาดในลักษณะพื้นที่ไปสู่สาธารณะ
และ 4) การแถลงแผนเชิงกลยุทธ์การพัฒนากลุ่มเครือข่าย MOC Biz Club และ Networking เพื่อเตรียมความพร้อมการดำเนินธุรกิจให้สอดรับกับสภาพเศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ MOC Biz Club
“หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ จะได้รับความรู้ใหม่ๆ เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในการพัฒนาเครือข่ายและองค์กรของ MOC Biz Club ร่วมกัน รวมไปถึงได้มีโอกาสเสนอแนวคิด/ข้อเสนอแนะ
เพื่อนำไปพัฒนาและขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่หลากหลาย นำไปสู่การต่อยอดและเพิ่มรายได้ให้ธุรกิจมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” อธิบดีอรมนกล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ความหวัง “ส่งออก” ดันเศรษฐกิจ-พาณิชย์เร่งเครื่องเต็มพิกัด