“สุรพงษ์“ เร่งบริการทางคู่สายใต้ หวังขนส่งทุเรียน-ยาง ไปจีนเร็วขึ้น

"สุรพงษ์“ นครปฐม
"สุรพงษ์“ ลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร - นครปฐม

“สุรพงษ์“ ลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม และโครงการศูนย์กระจายตู้สินค้าทางรถไฟสะพลี จังหวัดชุมพร หวังพัฒนาเป็นแหล่งขนส่งสินค้าผลิตผลทางการเกษตรเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งทุเรียน ยางพารา ผลไม้

  • หวังพัฒนาเป็นแหล่งขนส่งสินค้าผลิตผลทางการเกษตร
  • เชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

วันที่ 15 มิถุนายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม

และโครงการศูนย์กระจายตู้สินค้าทางรถไฟที่สถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ที่จะพัฒนาเป็นแหล่งขนส่งสินค้าผลิตผลทางการเกษตรเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หลังจากได้มีการเปิดใช้ทางคู่ตลอดเส้นทาง โดยมีนายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟฯ และผู้บริหารการรถไฟฯ ให้การต้อนรับ

สำหรับ การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เป็นการติดตามงานเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงด้านคมนาคมในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ ซึ่งปัจจุบันได้มีการเปิดใช้ทางคู่ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

พบว่า ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางเพิ่มขึ้น โดยไม่พบปัญหาและอุปสรรคในการเดินขบวนรถ แม้จะยังไม่ได้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งได้สั่งการให้การรถไฟฯ สามารถใช้ทางคู่ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าต่อประชาชนอย่างสูงสุด

"สุรพงษ์“
การลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม

ส่วนต่อมา ได้นำคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ เดินทางติดตามความก้าวหน้า พร้อมรับฟังบรรยายภาพรวมโครงการแผนพัฒนาพื้นที่ย่านกองเก็บตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (CY) สะพลี จังหวัดชุมพร เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าทางราง ซึ่งปัจจุบันได้ก่อสร้างแล้วเสร็จ

โดยมีเอกชนให้ความสนใจขนส่งสินค้าทางรถไฟหลากหลายชนิด อาทิ ยางพารา สินค้าอุปโภค และผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ซึ่งเป็นผลไม้ส่งออกอันดับต้นๆ ของประเทศไทย

ที่ถูกขนส่งทางรถไฟผ่าน สปป.ลาว ไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังการเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว-จีน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ ในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ได้มีการขนส่งทุเรียนใต้เพื่อส่งออกไปยังประเทศจีน วันละ 15 ตู้ต่อวัน วิ่งให้บริการวันเว้นวัน โดยในอนาคตได้มีการตั้งเป้าหมายไว้ที่วันละ 25 ตู้ต่อวัน รวมทั้ง ได้ตั้งเป้าในการขนส่งสินค้าทางการเกษตรเพิ่มเติม อาทิ มะพร้าวสด มะพร้าวแห้ง และมังคุด เพื่อขนส่งด้วยตู้ทำความเย็นผ่านระบบรางไปยังประเทศจีนเพิ่มเติมอีกด้วย

​นอกจากนี้ ยังได้ร่วมรับฟังการบรรยายโครงการเกี่ยวกับแผนพัฒนาแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวบริเวณสถานีทุ่งมะเม่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ โดยการรถไฟฯ มีแนวคิดที่จะเพิ่มเส้นทางการเดินรถไฟใหม่ๆ ตลอดจนการจัดขบวนรถไฟเที่ยวพิเศษ

"สุรพงษ์“
การลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม

ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมของไทย หรือการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ เพื่อเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวเฉพาะกลุ่ม ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ

สำหรับ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ถือเป็นภารกิจสำคัญในการยกระดับการเดินทาง ที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติกส์

เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรถไฟ ลดระยะเวลาในการเดินทาง ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เชื่อมโยงเครือข่ายการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชน สินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง และประเทศเพื่อนบ้านเข้าด้วยกันได้อย่างไร้รอยต่อ

ซึ่งตนมีความมั่นใจว่าโครงการพัฒนารถไฟทางคู่สายใต้ มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ ยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย และพลิกโฉมการคมนาคมขนส่งระบบรางของประเทศ ให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมของภูมิภาคอาเซียนได้ในอนาคตอันใกล้

"สุรพงษ์“
“สุรพงษ์“ ลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม

นอกจากนี้เมื่อเร็วๆ นี้ ยังร่วมกับ คณะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เยี่ยมชมสถานีรถไฟหัวหิน และขบวนรถพิเศษท่องเที่ยว SRT Royal Blossom ส่งเสริมศักยภาพการเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศ สอดรับกับนโยบายรัฐบาล IGNITE TOURSIM THAILAND เชื่อมโยงทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปสู่เมืองน่าเที่ยว นำไปสู่การกระจายรายได้อย่างทั่วถึง และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ตามที่นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูท่องเที่ยวไตรมาส 4 ของปี 2567 ตนจึงได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จัดทำแผนท่องเที่ยวเพื่อส่งเสริมศักยภาพการเดินทางและการท่องเที่ยวภายในประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

โดยล่าสุด รฟท. มีแผนเตรียมเปิดให้บริการเดินรถเส้นทางท่องเที่ยวใหม่ SRT Royal Blossom ซึ่งเป็นรถที่ รฟท. ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR Hokkaido) ประเทศญี่ปุ่น จำนวน 10 คัน นำมาปรับปรุงเป็นรถไฟท่องเที่ยว โดยปัจจุบันปรับปรุงเสร็จสมบูรณ์แล้ว 5 คัน

และพร้อมเปิดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจของชุมชน สร้างงาน สร้างอาชีพให้ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืน สำหรับขบวนรถที่นายกรัฐมนตรีเยี่ยมชมนั้น เป็นขบวนรถพิเศษที่ได้รับการตกแต่งสวยงามรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวแบบพิเศษ มีตู้ VIP 1 ตู้ ตู้โดยสาร 3 ตู้ และตู้เสบียง 1 ตู้ รองรับนักท่องเที่ยวได้ 176 คน

ส่วนสถานีรถไฟหัวหินแห่งใหม่ ได้เปิดใช้งานแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2566 เป็นสถานียกระดับที่มีทางเดินใต้สถานีแห่งแรกในประเทศไทย อาคารสถานีมีความพร้อมด้านความปลอดภัยสูงสุด มีสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครันครอบคลุมผู้ใช้งานทุกลุ่ม ทั้งบันไดเลื่อน ลิฟต์ขึ้นลง ห้องจำหน่ายตั๋ว ห้องปฐมพยาบาล ห้องพักรอสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ห้องให้นมบุตร ห้องรับฝากสิ่งของ ฯลฯ

"สุรพงษ์“
การลงพื้นติดตามการเปิดให้บริการทางคู่สายใต้ ช่วงชุมพร – นครปฐม

ประชาชนและนักท่องเที่ยวจะได้รับความสะดวกสบาย การออกแบบยังคงเอกลักษณ์ของสถานีเดิมตามสถาปัตยกรรมวิกตอเรีย คำนึงถึงความสวยงาม และการมีส่วนร่วมอนุรักษ์บรรยากาศการท่องเที่ยวในพื้นที่ ปัจจุบันมีการเดินรถ (ไป- กลับ) จำนวน 28 ขบวน เป็นการเดินรถด้วยทางคู่

ทำให้เส้นทางกรุงเทพ – หัวหิน ใช้ระยะเวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางที่สะดวกปลอดภัย ลดเวลาการเดินทางและเลี่ยงจราจรติดขัดช่วงเทศกาล ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สำคัญให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว สถานีรถไฟหัวหินมีการเชื่อมต่อการเดินทาง (feeder) กับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ที่สะดวก

ส่วนอาคารสถานีเดิมซึ่งเปิดใช้งานมา 112 ปี ถูกขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร รฟท. ยังคงอนุรักษ์ไว้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของจังหวัด โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาถ่ายรูป เช็กอินภายในสถานีรถไฟหัวหิน เปรียบเสมือนแลนด์มาร์กที่สำคัญอีกแห่งของการท่องเที่ยวเมืองหัวหิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รมว.คมนาคมไทย-จีน หารือ พัฒนาระบบขนส่ง

: การรถไฟทำแผนรองรับนักท่องเที่ยวไตรมาส 4 ปรับปรุงรถไฟญี่ปุ่น