

เคาะแล้ว! สคบ.เผย กฎหมายเปิดดู สินค้าออนไลน์ ก่อนจ่าย มีผลบังคับใช้ 3 ต.ค.นี้
- ขอเปิดดูสินค้าได้ก่อนชำระเงินค่าสินค้า
- สำหรับการซื้อ สินค้าออนไลน์ จ่ายเงินปลายทางนั้น
วันที่ 7 ก.ค.2567 นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ให้ความเห็นชอบร่างประกาศที่เกี่ยวข้องกับการที่ผู้บริโภคสามารถขอเปิดดูสินค้าได้ก่อนชำระเงินค่าสินค้า สำหรับการซื้อสินค้าออนไลน์จ่ายเงินปลายทางนั้น
ล่าสุด ประธานคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ได้ลงนามในประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ‘ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567‘ แล้ว เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567นั้น ล่าสุดประกาศ สคบ. ดังกล่าว ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ซึ่งการมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มีระยะเวลาในการเตรียมตัวที่เหมาะสม
นางสาวจิราพร กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาให้นักช้อปออนไลน์ โดยการใช้ “มาตรการส่งดี (Dee-Delivery)” ให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่เรียกเก็บเงินปลายทางจากผู้บริโภค ต้องระบุรายละเอียดในหลักฐานการรับเงิน เช่น ชื่อ-สกุล และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ส่งสินค้า หมายเลขติดตามพัสดุ ข้อมูลพัสดุ จำนวนเงินที่เรียกเก็บปลายทาง
รวมถึงให้สิทธิผู้บริโภคปฏิเสธไม่รับสินค้า หรือมีสิทธิได้รับค่าสินค้าคืน โดยให้ผู้ประกอบธุรกิจถือเงินไว้ก่อนเป็นเวลา 5 วัน ก่อนนำส่งเงินให้กับผู้ส่งสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคมีโอกาสแจ้งเหตุที่ขอคืนสินค้าและขอเงินคืน
นอกจากนี้ ยังให้สิทธิผู้บริโภคสามารถเปิดดูสินค้าก่อนชำระเงินได้ โดยบันทึกภาพถ่ายหรือวิดีโอไว้เป็นหลักฐาน หากสินค้าไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ ผู้บริโภคสามารถปฏิเสธการชำระเงินและไม่รับสินค้าได้
ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับประชาชนซึ่งเป็นผู้บริโภค และจะช่วยแก้ไขปัญหาการถูกหลอกขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย
เก็บ Vat 7% นำเข้าของไม่เกิน 1,500 บ.
นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มของนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาท เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ขายในต่างประเทศซึ่งไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม กับผู้ขายในประเทศซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยังคงยกเว้นอากรให้สำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ตามประกาศกรมศุลกากร ที่ 116/2567
ประกอบกับประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งยกเว้นอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท ซึ่งมีผลทำให้ของที่นำเข้าที่มีราคาตั้งแต่ 1 บาท ขึ้นไป ต้องชำระภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม
โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม พ.ศ. 2567 เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการปฏิบัติพิธีการศุลกากร กรมศุลกากรจึงออกประกาศกรมศุลกากร ที่ 129/2567 เรื่อง หลักเกณฑ์ และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากร
สำหรับการนำเข้าของที่มีมูลค่าไม่เกิน1,500 บาท ซึ่งผู้ประกอบการหรือผู้นำของเข้าประสงค์ขอใช้สิทธิยกเว้นอากรศุลกากรสามารถสำแดงรหัสสิทธิพิเศษของแต่ละรายการเป็น “LVG” ในใบขนสินค้าแต่ละประเภท โดยยังคงสามารถปฏิบัติพิธีการศุลกากรเหมือนเดิม
ส่วนการนำเข้าของกรณีทั่วไป ของเร่งด่วนทางอากาศยานและทางบก รวมถึงการนำของออกจากเขตปลอดอากรกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อใช้หรือจำหน่ายภายในประเทศ
สำหรับการนำเข้าทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ พนักงานไปรษณีย์จะนำจ่ายพัสดุและใบสั่งเก็บเงิน (Order form)
เพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้รับสามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR CODE ได้ทันที หรือนำใบสั่งเก็บเงินไปชำระที่ธนาคารหากไม่สะดวกสแกน QR CODE
กรณีไม่มีผู้รับ พนักงานไปรษณีย์จะส่งใบนัดนำจ่ายพร้อมใบสั่งเก็บเงิน ผู้รับสามารถชำระภาษีมูลค่าเพิ่มผ่าน QR CODE หรือธนาคารที่กำหนดและติดต่อขอรับของ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกใบนัดนำจ่าย
ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และการปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับการยกเว้นอากรศุลกากร สำหรับการนำเข้าของที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,500 บาท สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน 1164
และตรวจสอบรายละเอียดของประกาศได้ที่www.thaicustoms.go.th หรือสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานศุลกากรที่ท่านต้องปฏิบัติพิธีการศุลกากรทุกแห่ง
ค่าไฟฟ้า-อาหารสดขึ้นราคา ดันเงินเฟ้อสูง
ด้านเว็บไซต์ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) รายงานเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2567 ว่านายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทย เดือน มิ.ย. 2567 เท่ากับ 108.50 เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย. 2566
ซึ่งเท่ากับ 107.83 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นในอัตราชะลอตัวที่ร้อยละ 0.62 (YoY) โดยมีปัจจัยสำคัญมาจาก ผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าในเดือนก่อนหน้าสิ้นสุดลง ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มอาหารสดสูงขึ้นในอัตราชะลอตัว
เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกหลังจากสิ้นสุดช่วงสภาพอากาศร้อนจัด สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
อัตราเงินเฟ้อของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือน พ.ค. 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยสูงขึ้นร้อยละ 1.54 (YoY) เร่งตัวขึ้นจากปัจจัยชั่วคราว
แต่ยังอยู่ในระดับต่ำอันดับ 23 จาก 126 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สปป.ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย)
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงขึ้นร้อยละ 0.62 (YoY) ในเดือนนี้ มีการเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :เริ่มแล้ว! ศุลกากรออกประกาศ จัดเก็บแวตสินค้านำเข้า ต่ำ 1,500 บาท
: เว็บไซต์สคบ.