“คลัง” เผย “รัฐวิสาหกิจ” เบิกจ่ายงบลงทุนปี 67 ทะลุ 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 116% ของแผนการเบิกจ่าย หลังเมกะโปรเจกต์คืบหน้า
- คิดเป็น 116% ของแผนการเบิกจ่าย
- หลังเมกะโปรเจกต์คืบหน้า
นายธิบดี วัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การเบิกจ่ายงบลงทุน ของ รัฐวิสาหกิจ ในการกำกับดูแลของ สคร. จำนวน 43 แห่ง โดยมีรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชี ตามปีงบประมาณ (รัฐวิสาหกิจปีงบประ มาณ) จำนวน 34 แห่ง และรัฐวิสาหกิจที่ใช้ปีบัญชีตามปีปฏิทิน (รัฐวิสาหกิจปีปฏิทิน) จำนวน 9 แห่ง
และมีการเบิกจ่ายงบลงทุนจนถึงเดือนมิถุนายน 2567 แล้ว 150,401 ล้านบาท หรือคิดเป็น 116% ของแผนการเบิกจ่าย โดยแยกเป็น การเบิกจ่าย งบลงทุนของรัฐวิสาหกิจปีงบ ประมาณ (ต.ค.66-มิ.ย.67) จำนวน 80,190 ล้านบาท หรือ 102% ของแผนการเบิกจ่าย และรัฐ วิสาหกิจปีปฏิทิน (ม.ค.-มิ.ย.67) จำนวน 70,211 ล้านบาท หรือ 139% ของแผนการเบิกจ่าย
สำหรับ รัฐวิสาหกิจปีงบประมาณ ที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 95% ของแผนการเบิกจ่าย และมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการประปานครหลวง (กปน.)
และรัฐวิสาหกิจปีปฏิทินที่เบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 95% ของแผนการเบิกจ่าย และมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้น เดือน มิ.ย.2567 รัฐวิสาหกิจสามารถ ลงทุนได้ตามเป้าหมาย โดยเบิกจ่ายงบลงทุนได้ 150,401 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 134,841 ล้านบาท คิดเป็น 58% ของกรอบงบลงทุนทั้งปี
- โครงการที่เบิกจ่ายสูงกว่าแผน
นางสาวปิยวรรณ ล่ามกิจจา ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สคร. กล่าวว่า โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่สำคัญสามารถเบิกจ่ายได้สูงกว่าแผน อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะของ รฟม. เบิกจ่ายได้ 15,808 ล้านบาท คิดเป็น 101% ของแผนการเบิกจ่าย,
แผนร่วมทุนในบริษัท LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) บ้านหนองแฟบ ของ กฟผ. เบิกจ่ายได้ 14,400 ล้านบาท และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพมหานครนครราชสีมา) ของ รฟท. เบิกจ่ายได้ 9,142 ล้านบาท คิดเป็น 118% ของแผนการเบิกจ่าย.
คลังเก็บรายได้ 5 เดือนต่ำเป้า
นายพรชัย ธีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.2566 – ก.พ.2567) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 981,902 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 25,144 ล้านบาท หรือ 2.5% และต่ำกว่ากับช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.4%
โดยกรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากมีการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน รวมทั้งการจัดเก็บภาษีรถยนต์ต่ำกว่าประมาณการ
ขณะที่หน่วยงานที่มีการนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจเนื่องจากรัฐวิสาหกิจบางแห่งมีการนำส่งรายได้เหลื่อมมาจากปีงบประมาณก่อนหน้า และกรมสรรพากรสูง มีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าประมาณการ
อย่างไรก็ดี ฐานการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้พิเศษรวม 37,059 ล้านบาท หากไม่รวมรายได้พิเศษดังกล่าว รายได้รัฐบาลสุทธิจะสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.5%
- ยอดจัดเก็บ 3 กรมภาษี
สำหรับรายได้ของ 3 กรมจัดเก็บ มียอดจัดเก็บ 1,029,726 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 24,430 ล้านบาท หรือ 2.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 2.1% แบ่งออกเป็น
สรรพากรจัดเก็บได้ที่ 766,066 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 6,015 ล้านบาท หรือ 0.8% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 1.6%
สรรพสามิตจัดเก็บได้ที่ 213,864 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 32,841 ล้านบาท หรือ 13.3% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 7.9%
ศุลกากร จัดเก็บได้ที่ 49,796 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 2,396 ล้านบาท หรือ 5.1% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 11.3%
ขณะที่ฐานะการคลังของรัฐบาล ในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค. 2566 – ก.พ. 2567) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น จำนวน 979,981 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้นจำนวน 1,365,674 ล้านบาท
โดยรัฐบาลได้กู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุล จำนวน 55,750 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนก.พ. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 178,500 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ครม. ไฟเขียว ยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืน