“ดีอี” เตือน! ระวัง ข่าวปลอมรับสมัครงาน อ้างกรมการจัดหางาน เช็คก่อนแชร์

ดีอี
ผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567

“ดีอี” เตือนระวัง ข่าวปลอมรับสมัครงาน อ้างกรมการจัดหางาน ขอประชาชนตรวจสอบให้แน่ใจก่อนเชื่อ หากพบเห็นขอให้แจ้งเบาะแสทางสายด่วน 1111 พร้อมระบุข่าวปลอมรายสัปดาห์ ที่ประชาชนให้ความสนใจสูงสุดอันดับที่ 1 ยังเป็นเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ

  • พบเห็นขอให้แจ้งเบาะแสทางสายด่วน 1111
  • ชี้ข่าวปลอมที่คนสนใจยังเป็นเรื่องนโยบายรัฐ

วันที่ 9 มิถุนายน 2567 น.ส.เกณิกา อุ่นจิตร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีการแชร์ข้อมูลเรื่อง การเปิดรับสมัครงานฝีมือ และงานแพ็กของ ผ่านช่องทางออนไลน์นั้น จากการตรวจสอบของ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม หนึ่งในภารกิจหลักของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ไปยังกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน

ซึ่งพบว่าข้อมูลดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ โดยภาพประกาศเชิญชวนรับสมัครงานดังกล่าว ได้แอบอ้างใช้ตราสัญลักษณ์ และชื่อของกรมการจัดหางาน โดยไม่ได้รับอนุญาต และประกาศดังกล่าวไม่ได้มาจากส่วนราชการของกรมการจัดหางาน ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

น.ส.เกณิกา กล่าวต่ออีกว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด

ดังนั้น รัฐบาลจึงขอความร่วมมือประชาชนอย่าได้ส่งต่อหรือแชร์ข้อมูลอันเป็นเท็จดังกล่าว ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ อีก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความสับสน และความเข้าใจผิดขยายไปในวงกว้างเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เมื่อประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารใด ๆ มา หากมีความสงสัยหรือไม่แน่ใจในข้อมูลเหล่านั้น

ขอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและความถูกต้องจากหน่วยงานเจ้าของเรื่อง หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเผยแพร่ หรือแชร์ข้อมูลออกไปให้บุคคลอื่น เพราะหากแชร์ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนอกจากจะก่อให้เกิดความสับสน และอาจนำไปสู่การหลอกลวงสร้างความเสียหายแก่ประชาชนได้แล้ว ยังผิดกฎหมายด้วย

ทั้งนี้ ประชาชนที่พบเจอข่าวปลอม เว็บไซต์ผิดกฎหมาย และการหลอกลวงออนไลน์ สามารถแจ้งเบาะแสทางสายด่วน 1111 ได้ทันทีตลอด 24 ชม.หรือทาง Line Official Account ID : @antifakenewscenter

ขณะที่ ด้าน นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม – 6 มิถุนายน 2567 พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 1,203,865 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 230 ข้อความ

สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 182 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 37 ข้อความ ข้อความที่มาจาก Website จำนวน 9 ข้อความ และข้อความที่มาจาก Facebook 2 ข้อความ

รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 175 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 110 เรื่อง

ทั้งนี้ ได้แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 77 เรื่อง

กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 39 เรื่อง กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 7 เรื่อง กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 31 เรื่อง และกลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 21 เรื่อง

เปิด 10 อันดับข่าวที่คนสนใจมากที่สุด

นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รองลงมาเป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ โดยข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชน มากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่

1. เรื่อง เปิดรับสมัครงาน ทำงานที่บ้าน รายได้ 450-3,300 บาท ต่อวัน/สัปดาห์ ผ่านเพจ กรมอาชีพฝีมือแรงงาน

2. เรื่อง ทานวิตามินบีเป็นประจำก่อนนอน ช่วยป้องกันโรคหัวใจ

3. เรื่อง เพจ Thailand International Airport Center เปิดรับสมัครงาน รายได้ 10,000 บาท/สัปดาห์

4 .เรื่อง เปลี่ยนมิเตอร์ดิจิทัล ค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าทันที

5. เรื่อง คันตามผิวหนังเพราะมีก๊าซเน่าเสียในลำไส้ กระตุ้นเซลล์ในร่างกายให้หลั่งฮิสตามีน

6. เรื่อง รับสมัครคนพับถุงกระดาษ รายได้ 500-2,500 บาทต่อวัน/สัปดาห์

7. เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงานรับสมัคร Part time พับถุงกาแฟ

8. เรื่อง 9 สัญญาณเตือนโรคไทรอยด์เป็นพิษ

9. เรื่อง กินวิตามินซีพร้อมกุ้ง ทำให้ตายเฉียบพลันจากสารหนู

10. เรื่อง ความชื้นในอากาศสูง ทำให้ร่างกายผู้ป่วยระบายลมออกจากรูขุมขนยาก

“จาก 10 อันดับ พบข่าวเกี่ยวกับด้านสุขภาพ ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง ถึง 5 อันดับ และรองลงคือ เรื่องการรับสมัครงาน โดยส่วนใหญ่รูปแบบของการแนะนำด้านสุขภาพที่ผิด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลในการ ใช้ชีวิตประจำวัน ขณะเดียวกัน ข่าวการหลอกลวงสร้างอาชีพ หารายได้เสริม

ทำให้ประชาชนส่วนมากหลงเชื่อ และสร้างความเข้าใจผิด จึงคาดว่าอาจเป็นเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้เข้าถึงความสนใจของผู้รับข่าวสาร

ซึ่งอาจเป็นช่องทางในการก่ออาชญากรรมของมิจฉาชีพออนไลน์ นำไปสู่ความเสียหายที่เป็นผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม” นายเวทางค์ กล่าว

ทั้งนี้ขอให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอมที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดีย ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ ส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าวหรือลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัดก่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดีอี เผยข่าวปลอมนโยบายรัฐ ระบาดหนัก เตือนอย่าหลงเชื่อ

: เช็คให้ชัวร์ ก่อนเชื่อ ก่อนแชร์!