

ดีอี เตือน ข่าวปลอม อย่าแชร์ “ดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว ช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลว” โดยขอให้ประชาชนเลือกเชื่อ เลือกแชร์ ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หวั่นสร้างความสับสน เข้าใจผิด
- ขอให้ประชาชนลือกเชื่อ เลือกแชร์
- ข้อมูลที่เป็นประโยชน์
วันที่ 27 ก.ค.2567 นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ และสังคม ในฐานะโฆษกกระทรวงฯ กล่าวถึงผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ระหว่างวันที่ 19 – 25 กรกฎาคม 2567 พบข้อความที่เข้ามา ทั้งหมด 851,933 ข้อความ
ซึ่งมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 248 ข้อความ
- พบเบาะแสข่าวปลอมจากโซเชียลมากสุด
สำหรับช่องทางที่มีการพบเบาะแสมากที่สุด คือ ข้อความที่มาจาก Social Listening จำนวน 204 ข้อความ ตามมาด้วยการแจ้งเบาะแสผ่าน Line Official จำนวน 43 ข้อความ และผ่านช่องทาง Facebook จำนวน 1 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 209 เรื่อง และจากการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 102 เรื่อง
ทั้งนี้ ดีอี ได้แบ่ง ข่าวที่ได้รับความสนใจเป็น 5 กลุ่ม ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1 : นโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 103 เรื่อง
กลุ่มที่ 2 : ผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมายจำนวน 51 เรื่อง
กลุ่มที่ 3 : ภัยพิบัติ จำนวน 5 เรื่อง
กลุ่มที่ 4 : เศรษฐกิจ จำนวน 4 เรื่อง
กลุ่มที่ 5 : กลุ่มอาชญากรรมออนไลน์ จำนวน 36 เรื่อง
- ข่าวนโยบายรัฐยังยืนหนึ่ง
นายเวทางค์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจในลำดับต้นๆ ในสัปดาห์นี้ พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวด้านกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความมั่นคง ซึ่งเป็นข่าวที่เกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน
รองลงมา เป็นข่าวการติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานรัฐ และกลุ่มเศรษฐกิจ ตามลำดับ
ข่าวที่ได้รับความสนใจจากประชาชนมากที่สุด 10 อันดับ ได้แก่
อันดับที่ 1 : เรื่อง ดื่มน้ำเปล่า 1-2 แก้ว เป็นตัวช่วยลดการเกิดอาการหัวใจล้มเหลว
อันดับที่ 2 : เรื่อง รัฐบาลเตรียมแจกเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพิ่มคนละ 3,000 บาท วันที่ 20 ก.ค. 67 โดยไม่ต้องลงทะเบียน
อันดับที่ 3 : เรื่อง การบินไทย มีตั๋วเที่ยวบินราคาถูกสำหรับผู้สูงอายุ
อันดับที่ 4 : เรื่อง โรคงูสวัดหากขึ้นวนรอบตัวจะทำให้เสียชีวิ
อันดับที่ 5 : เรื่อง ประเทศลาวสั่งห้ามใช้เงินบาทและสินค้าจากไทย
อันดับที่ 6 : เรื่อง การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อการเป็นภาคีอนุสัญญา
อันดับที่ 7 : เรื่อง ปตท. เปิดลงทะเบียนรับสิทธิ์เติมน้ำมัน 200 บาท ฟรี 200 บาท ผ่านเว็บไซต์ www.ptt-th.com
อันดับที่ 8 : เรื่อง วิธีตรวจระดับความเสื่อมของสมอง ด้วยการกดและขยับเคลื่อนไหวนิ้ว
อันดับที่ 9 : เรื่อง กองทะเบียนจัดหางานถูกกฎหมาย กรมการจัดหางาน รับสมัครนักเรียน นักศึกษา หารายได้เสริมผ่านมือถือ
อันดับที่ 10 : เรื่อง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำ TikTok มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ประชาสัมพันธ์งานหารายได้เสริม
- ย้ำการดื่มน้ำไม่ช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้
“เมื่อพิจารณาจากข่าวปลอมที่ประชาชนสนใจมากที่สุด จาก 10 อันดับ ข้างต้น พบว่าส่วนใหญ่เป็นข่าวที่มีผลกระทบต่อประชาชนเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะอันดับ 1 ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้อง กับการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชน เป็นการสร้างความเชื่อ ความเข้าใจที่ผิด
โดยข้อมูลจากสถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่า การดื่มน้ำไม่สามารถช่วยลดการเกิดหัวใจล้มเหลวได้ และในบางบุคคลอาจต้องจำกัดปริมาณน้ำที่ดื่มต่อวันในช่วงที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน
ซึ่งหากหลงเชื่อโดยไม่ตรวจสอบรายละเอียดข้อเท็จจริง อาจทำให้เกิดความเสียหาย ทั้งในส่วนตัวบุคคล หรือหากมีการแชร์ เผยแพร่ ต่อๆกันไป อาจกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้างได้
อย่างไรก็ตามดีอี มีความห่วงใยประชาชน เรื่องความตระหนักรู้เท่าทันข่าวปลอม ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อออนไลน์ โซเชียล ซึ่งหากขาดความรู้เท่าทัน ส่งต่อข้อมูลข่าวปลอม ทำให้เกิดการหลงเชื่อ สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สิน หรือข้อมูลส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อเท็จจริงของข่าว หรือ ลิงก์เว็บไซต์ให้แน่ชัด
- ผนึกกำลัง‘Tik Tok’ ปราบโจรออนไลน์
นอกจากนี้ดีอี ยังเปิดโครงการ ‘#คนไทยรู้ทัน ศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ (Anti-Scam Digital Literacy Hub)’ ซึ่งจัดขึ้นโดย Tik Tok ,Thailand โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมในพิธีเปิดโครงการ
นายประเสริฐ กล่าวว่า ปัจจุบัน ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ ถือเป็นปัญหาสำคัญ ที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนในสังคมไทยเป็นวงกว้าง โดยกระทรวง ดีอี ได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร เร่งรัดการปราบปรามและป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ในทุกรูปแบบ
พร้อมกับการขอความร่วมมือผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม สื่อสังคมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ในการแจ้งเบาะแส และเฝ้าระวังการกระทำของมิจฉาชีพที่อาศัยช่องทางโซเชียลมีเดีย
ตั้งศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์
ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอี ได้ดำเนินการสร้างความตระหนักรู้และภูมิคุ้มกันด้านดิจิทัลให้กับประชาชนในช่องทางการสื่อสารทุกรูปแบบ โดยตระหนัก ถึงความสำคัญของการใช้แพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ในการให้ความรู้ และวิธีป้องกันภัยออนไลน์
ซึ่งจากการหารือร่วมกับ TikTok , Thailand และหน่วยงานพันธมิตร จึงนำไปสู่การจัดโครงการ #คนไทยรู้ทัน และทาง TikTok ได้จัดตั้งศูนย์ข้อมูลดิจิทัลต้านภัยออนไลน์ (Anti-Scam Digital Literacy Hub) เพื่อดำเนินการเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ความรู้ วิธีการป้องกันตัวจากภัยออนไลน์ เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่น การใช้งานเทคโนโลยีให้กับประชาชน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ดีอีพบ ข่าวปลอม เพียบ เตือนระวังเพจปลอม “สำนักงาน ป.ป.ง. เปิดเฟซบุ๊ก”
: เว็บไซต์ www.antifakenewscenter.com