ลูกหนี้ได้เฮ! ธปท. ยืดจ่ายขั้นต่ำ “บัตรเครดิต” ร้อยละ 8 ออกไป 1 ปี

บัตรเครดิต


ธปท. ยืดเวลา จ่ายขั้นต่ำ “บัตรเครดิต” ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 หวังจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น พร้อมผ่อนปรนเงื่อนไข LTV สำหรับกรณีรวมหนี้

  • หวังจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้น
  • ผ่อนปรนเงื่อนไข LTV
  • สำหรับกรณีรวมหนี้

วันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ตามที่ ธปท. ได้ออกมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนมาอย่างต่อเนื่อง

ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน เมื่อเร็วๆ นี้ เห็นว่า ปัจจุบันยังคงมีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม เนื่องจากรายได้ที่ยังฟื้นตัวกลับมาไม่เต็มที่ จึงเห็นควรปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในปัจจุบัน ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ยิ่งขึ้น โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. การผ่อนชำระขั้นต่ำของบัตรเครดิต

กำหนดให้ยังคงอยู่ที่ร้อยละ 8 ออกไปอีก 1 ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมที่กำหนดให้อัตราดังกล่าวกลับสู่เกณฑ์ปกติที่ร้อยละ 10 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เพื่อช่วยลดภาระการจ่ายชำระหนี้และรักษาสภาพคล่องให้ครัวเรือนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

ส่วนลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหนี้ขั้นต่ำมากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 8 จะได้รับเครดิตเงินคืนเทียบเท่าดอกเบี้ยร้อยละ 0.5 ของยอดค้างชำระ

สำหรับครึ่งปีแรก และร้อยละ 0.25 สำหรับครึ่งปีหลัง ของปี 2568 โดยได้รับคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจให้ลูกหนี้ปิดจบหนี้เร็วขึ้นและมีภาระดอกเบี้ยทั้งสัญญาลดลง

ขณะที่ลูกหนี้ที่เดิมจ่ายขั้นต่ำที่ร้อยละ 5 แต่ไม่สามารถจ่ายได้ถึงร้อยละ 8 สามารถใช้สิทธิปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสีย โดยเปลี่ยนประเภทหนี้ของ บัตรเครดิต ไปเป็นสินเชื่อระยะยาวเพื่อจ่ายชำระเป็นงวด

2. การรวมหนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อรายย่อย

ธปท.จะส่งเสริมให้สถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้วยการรวมหนี้บ้าน และสินเชื่อรายย่อยได้มากขึ้น โดยผ่อนปรนเงื่อนไขอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ LTV ในทุกลำดับสัญญาสำหรับกรณีรวมหนี้ ให้สามารถเกินกว่าเพดานที่กำหนดได้

โดยผู้ให้บริการที่เป็นผู้รวมหนี้ต้องดูแลให้ภาระของลูกหนี้ภายหลังการรวมหนี้บรรเทาลงกว่าก่อนรวมหนี้ เช่น อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าเดิม และค่างวดที่ต้องชำระต่ำกว่าค่างวดรวมที่เคยจ่าย โดยมาตรการดังกล่าวจะสิ้นสุดในปี 2568

3. การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ภายใต้หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

ธปท. ขยายระยะเวลาการปิดจบหนี้จากภายใน 5 ปี เป็น 7 ปี (อัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปีเท่าเดิม) เพื่อให้ค่างวดที่ลูกหนี้ต้องชำระปรับลดลง และลูกหนี้จะยังมีโอกาสได้สภาพคล่องจากวงเงินสินเชื่อส่วนที่เหลือ รวมถึง กำหนดให้ ผู้ให้บริการต้องให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) ลูกหนี้เพิ่มเติม

เช่น สื่อสารข้อดีข้อเสียของการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงตารางข้อมูลระยะเวลาการผ่อนชำระพร้อมภาระดอกเบี้ย โดยมาตรการจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ในกลุ่มเปราะบางที่ยังมีภาระหนี้สูง และมีปัญหาสภาพคล่อง ธปท. ยังมีมาตรการที่กำหนดให้ผู้ให้บริการทางการเงินเข้าช่วยเหลือ เพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ให้มีสภาพคล่องเพียงพอต่อการดำรงชีพ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ก่อนเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้งและหลังเป็นหนี้เสียอย่างน้อย 1 ครั้ง

ภายใต้หลักเกณฑ์ Responsible Lending รวมถึงการปรึกษาปัญหาหนี้กับหมอหนี้ และโครงการคลินิกแก้หนี้ โดย ธปท. จะติดตามประสิทธิผลและผลข้างเคียงของมาตรการอย่างใกล้ชิด และจะพิจารณาปรับมาตรการให้เหมาะสมกับสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

  • ภาคธุรกิจอสังหาฯจี้เลิก LTV

อย่างไรก็ตามในเรื่องการยกเลิก มาตรการ LTV สมาคมอาคารชุดไทยได้ส่งหนังสือถึงผู้ว่าการ ธปท. เพื่อขอให้พิจารณายกเลิกการบังคับใช้มาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวแบบปีต่อปี เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง สามารถเข้าถึงสินเชื่อ เพื่อซื้อบ้านอยู่อาศัยเป็นของตนเองได้ ในภาวะที่ต้องเผชิญกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนาน

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย ชี้ว่า ทุกวันนี้ การซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการซื้อบ้านหรือคอนโดมิเนียม เป็นพฤติกรรมการซื้อตามความจำเป็นในการใช้ชีวิต ไม่ได้เป็นการเก็งกำไรอย่างที่มองกันแล้ว

ขณะที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นธุรกิจหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย แต่ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจต่อเนื่องยาวนาน นับตั้งแต่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรง

“ยอดขายและยอดโอนตกต่ำในรอบ 12 ปี โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่อาศัยราคา 3-5 ล้านบาทที่ตกต่ำรุนแรง ซึ่งเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจฝืด ค่าครองชีพสูงขึ้น ดอกเบี้ยแพง ทำให้ลดทอนกำลังซื้อที่อยู่อาศัย และยังมีอุปสรรคสำคัญจาก LTV ทำลายโอกาสคนไทยในการมีบ้านเป็นของตนเอง จึงอยากให้ทบทวน”

  • ยันไม่เคยเตือนแอปฯ “ทางรัฐ” ไร้ความปลอดภัย

ด้านศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย (ANTI-FAKE NEWS CENTER THAILAND) ระบุว่า ตามที่มีผู้โพสต์เตือนเรื่อง “ธปท. เตือน แอปฯ ทางรัฐ ไร้ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล” นั้น ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แล้ว พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า ธปท. ไม่ได้ระบุว่า แอปฯ ทางรัฐ ไร้ความปลอดภัย

แต่ ธปท. เคยมีหนังสือให้ความเห็นว่า อยากให้การดำเนินการพัฒนาระบบสำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ควรเป็นไปตามมาตรฐานสากล ทั้งด้านความมั่นคงปลอดภัย (confidentiality & security) ความถูกต้องน่าเชื่อถือ (integrity) และความมีเสถียรภาพพร้อมใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง (availability)

รวมทั้งมีการบริหารจัดการด้าน IT Governance โดยระบบลงทะเบียน ต้องได้มาตรฐานเทียบเคียงกับบริการภาคการเงิน สามารถป้องกันความเสี่ยงของการถูกสวมรอย หรือใช้เป็นช่องทางการทำทุจริต หรือการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมายได้ รวมถึงมีศักยภาพรองรับผู้ใช้จำนวนมากได้

“ดังนั้น ขอเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อ ในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ”

อย่างไรก็ดี เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงจากธนาคารแห่งประเทศไทย สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02 2835353

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธปท. คาดไตรมาส 2 ส่งออก-เบิกจ่ายภาครัฐ-ท่องเที่ยว ช่วยหนุนเศรษฐกิจ

:เว็บไซต์ ธนาคารแห่งประเทศไทย