กรมการขนส่งทางบก แจง ปัญหาทุนจีนยึด “ขนส่งศูนย์เหรียญ” ชี้รถขนส่งต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย แต่จะผลิตที่ไหนก็ได้ พร้อมเตรียมถก คลัง-พาณิชย์ หาทางแก้ปัญหา นอมินีจีน ยึดธุรกิจ
กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ชี้แจงถึงกรณีที่มี ข่าวว่า ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย แจ้งว่า ขณะนี้มีกลุ่มทุนจีนเข้ามาตั้งคลังส่งสินค้า และเปิดกิจการขนส่งเองอย่างเต็มรูปแบบ ประกอบกับมีสินค้าจากประเทศจีนทะลักเข้าไทยเป็นจำนวนมาก โดยสินค้าเหล่านั้นมีการใช้รถขนส่งสินค้าของจีน และเกือบทั้งหมดผ่านบริษัทนอมินี นั้น
กรณีรถขนส่งสินค้านั้น ตาม พ.ร.บ. การขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 24 กำหนดคุณสมบัติของผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถบรรทุก กรณีที่เป็นนิติบุคคลว่า จะต้องจดทะเบียนตามกฎหมายไทย และมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในราชอาณาจักรไทย
รวมถึงกรรมการไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งต้องมีสัญชาติไทย และทุนของบริษัทไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ต้องเป็นของผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาและมีสัญชาติไทย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ตรวจสอบและพิจารณาอนุญาต โดยถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวอย่างเคร่งครัด
ในประเด็นการดำเนินธุรกิจที่เป็นนอมินีจีนแบบครบวงจรทั้งคลังสินค้าและการนำเข้า-ส่งออก นั้นจะต้องทำการหารือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางในการช่วยกันกำกับดูแลมิให้เกิดข้อเสียเปรียบในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทยต่อไป
ทั้งนี้ในส่วนของประเด็นที่รถบรรทุกจากจีนวิ่งในประเทศไทยนั้น ขบ. ขอชี้แจงว่าการจดทะเบียนรถขนส่งสินค้านั้นไม่ได้จำกัดสัญชาติของผู้ผลิตรถซึ่งจะเป็นรถที่ผลิตในจีน ญี่ปุ่น อาเซียน สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกาก็ได้
แต่รถเหล่านั้นต้องมีลักษณะรถ ขนาด และอุปกรณ์และส่วนควบของรถตามที่กฎหมายกำหนดและมีการนำเข้าที่ถูกต้องตามกระบวนการของกรมศุลกากร
ซึ่งในปัจจุบันมีรถบรรทุกขนส่งสินค้าจากผู้ผลิตสัญชาติจีนจดทะเบียนอยู่ประมาณ 8,473 คัน (ซึ่งมีผู้ผลิตรถสัญชาติจีนบางรายมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทยด้วย)
การเลือกใช้รถบรรทุกจากผู้ผลิตรายใดเป็นสิทธิเสรีภาพของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าในการเลือกใช้ยานพาหนะที่มีความเหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุน ลักษณะงานขนส่ง และการบริหารจัดการขององค์กร
ในส่วนของการกำกับดูแลรถขนส่งสินค้าที่เป็นทะเบียนต่างประเทศนั้น กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตาม บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในระยะแรก (MOU Early Harvest)
ที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง สามารถทำการเดินรถระหว่างกันได้บนเส้นทางและด่านพรมแดนที่กำหนด โดยครอบคลุมการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารแบบไม่ประจำทาง
โดยกำหนดโควตาประเทศละ 500 คัน (โดยในระยะแรกจะเป็นการขนส่งระหว่างประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ยกเว้นเมียนมา เนื่องจากเมียนมายังไม่พร้อมดำเนินการ)ซึ่งบันทึกความเข้าใจฯ Early Harvest มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569
โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการขนส่งสินค้าไทยจำนวน 11 ราย มายื่นขอใบอนุญาตการเดินรถจำนวน 458 คัน โดยคาดว่าจะสามารถทำการเดินรถได้ในวันที่ 1 กันยายน 2567
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : “มนพร” ปลุกการขนส่งเรือตู้คอนเทนเนอร์ผ่าน ”ท่าเรือระนอง“