“ภูมิธรรม” ระบุ “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กรที่ประชาชนจะวิจารณ์ไม่ได้

“ภูมิธรรม เวชยชัย” ระบุ “แบงก์ชาติ” ไม่ใช่องค์กรหรือสถาบัน ที่ “ประชาชน” จะกล่าวถึงหรือ “วิพากษ์ วิจารณ์” หรือ “แตะต้อง” ไม่ได้ ยัน ‘อุ๊งอิ๊ง’ แสดงความคิดเห็นตามระบอบปชต.-สำนึกรับผิดชอบต่อประชาชน

  • ชี้แบงก์ชาติยันตรึงดอกเบี้ยกระทบประชาชน
  • ซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจ

วันที่ 5 พ.ค.2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุข้อความดังต่อไปนี้ว่า

“แบงก์ชาติ”ไม่ใช่องค์กร หรือสถาบันที่“ประชาชน”จะกล่าวถึงหรือ“วิพากษ์ วิจารณ์ ”หรือ“แตะต้อง” ไม่ได้

เจตจำนงพรรคเพื่อไทยที่หัวหน้าพรรค นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ได้สื่อสารกับสังคมถึงกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของพรรคที่ผ่านมา

สำหรับผมคือการแสดงออกอย่างเปิดเผย จริงใจ และห่วงใยที่แบงค์ชาติยังยืนยันที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างเดิมโดยไม่พิจารณาถึงผลกระทบด้านต่าง ๆ ซึ่งประชาชน (ที่เป็นลูกหนี้แบงค์และประชาชนทั่วๆไป) กำลังเผชิญชีวิต ดิ้นรนอยู่ภายใต้ ภาวะเศรษฐกิจที่กำลังซ้ำเติมชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

สื่อมวลชนเองก็รับรู้กระแสข่าวเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ความคิดของคนในสังคมต่อประเด็นนี้ก็มีความหลากหลาย และประเด็นการตัดสินใจของแบงค์ชาติ ก็เป็นกระแสความเห็นต่างกันอย่างกว้างขวางในสังคม

แต่แปลกใจว่าทำไมเมื่อหัวหน้าพรรคเพื่อไทยสะท้อนความคิดบ้าง จึงเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์ วิจารณ์ แบบมุ่งโจมตีด้วยอคติอย่างไร้เหตุผล

การแสดงความเห็นต่อกรณีแบงก์ชาติในวันประชุมของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่ผ่านมา ผมเชื่อมั่นว่า หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กำลังทำหน้าที่ สะท้อนความเห็นอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมาต่อแบงค์ชาติ ในฐานะที่องค์กรนี้เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของการพัฒนาและดูแลระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ความเห็นดังกล่าวมีนัยยะที่สะท้อนถึงความห่วงใยต่อผลกระทบจากภาระทางเศรษฐกิจที่บีบคั้นชีวิตของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งกำลังเดือดร้อน และแบกรับความยากลำบากอยู่

ท่าทีของการแสดงความคิดทางการเมืองของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยจึงเป็นไป ตามวิถีประชาธิปไตย และสำนึกความรับผิดชอบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน

อีกทั้งยังเป็นการนำเสนอในเวทีของพรรคการเมือง ประกอบด้วยกรรมการและสมาชิกพรรค ที่ต่างต้องมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ในการแสวงหาแนวทาง มาตรการ ทางเลือก เพื่อช่วยกันคิด และจัดการภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

จึงเป็นสิทธิที่สามารถพูดได้ ออกความเห็นได้ และเป็นเรื่องที่พึงกระทำได้  ไม่ว่าจะในฐานะพลเมือง หรือหัวหน้าพรรคการเมืองที่มีความห่วงใยประชาชน ห่วงใยบ้านเมือง

ผมเห็นว่าการแสดงความเห็นโดยสุจริตใจในครั้งนี้จะเป็นการกระตุกให้สังคมและผู้เกี่ยวข้องได้ช่วยกันคิด ไตร่ตรองหาเหตุผลให้เห็นทางออกมากขึ้น

ความเป็นจริง

แบงค์ชาติไม่ใช่สถาบันที่อยู่เหนือการเมือง ไม่ใช่องค์กรที่ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ตรงข้าม แบงค์ชาติคือกลไกของระบบเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศ ที่ประชาชนทุกฝ่ายเข้าถึง เสนอความคิดเห็นได้

แม้จะมีขอบเขตหน้าที่หลักทางเศรษฐกิจ ก็ไม่ได้หมายความว่าแบงค์ชาติไม่ข้องเกี่ยวกับการเมือง และชีวิตของประชาชน

การที่ประชาชนทั่วไปหรือพรรคการเมืองกล่าวถึงแบงค์ชาติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ เสนอความเห็นต่อแบงค์ชาติ ก็ ไม่ใช่การแทรกแซง แต่เป็นการเสนอเพื่อให้มุมมองทางเลือกอื่นๆที่เหมาะสมมากกว่าในบริบทสถานการณ์ที่เป็นอยู่

การที่สื่อบางบุคคล บางสำนักมีอคติต่อพรรคเพื่อไทย และนำความเห็นบางส่วนของหัวหน้าพรรคมาวิพากษ์อย่างรุนแรง และขยายความตามอคติของตนบวกด้วยการใส่สีตีข่าว เป็นการทำข่าวด้วยอคติมากกว่าข้อเท็จจริง

ผมเฝ้ามองคนข่าวหรือสำนักข่าวบางคนบางส่วน ที่ยังติดยึดอยู่กับอคติเดิมแล้วการใช้พื้นที่ข่าวของตนเป็นพื้นที่ละเลงอคติ และขยายความขัดแย้งอยู่เนืองๆ ก่อและปั่นกระแสขัดแย้งในสังคม โดยไม่คำนึงถึงสิทธิและความเป็นมนุษย์ของบุคคลที่ตกเป็นข่าว

ผมขอยืนยันว่า กรณีแบงก์ชาติยังเป็นประเด็นที่สังคมยังสะท้อนความเห็นและสื่อสารกันได้ โดยใช้ความรู้
และปัญญาที่รอบด้านมากกว่าการใช้จินตนาการที่มีแต่อคติ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขับเคลื่อนทั้งเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

ขณะที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ กรณีที่น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย แสดงวิสัยทัศนระบุถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ บนเวที “10 เดือนที่ไม่รอ ทำต่อให้เต็ม 10” ที่พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้หลายฝ่าย วิพากษ์วิจารณ์การแสดงวิสัยทัศน์ ว่า

ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าปัญหาภาวะดอกเบี้ยสูง เป็นประเด็นสำคัญและเป็นรายจ่ายที่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จึงถือเป็นการสะท้อนความเห็นของประชาชน

ตนเข้าใจความเป็นอิสระของ ธปท.และพยายามทำงานร่วมกัน ให้เกียรติ ธปท. แต่หากมีข้อเรียกร้อง ก็ได้เรียกร้องและพูดคุยกัน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยที่ควรลดลงมา

แต่เชื่อว่า ธปท.มีเหตุผลที่จะไม่ลด จึงเดินหน้าในส่วนของรัฐบาลต่อไป ทั้งการแก้ไขหนี้นอกระบบ การคุยกับธนาคารเอกชน ที่ได้ลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว แม้จะลด 25 หรือ 50 สตางค์ ก็มีส่วนช่วยประชาชนได้

จึงเชื่อว่า จะสามารถยึดโยงกับประชาชนได้ และในการลงพื้นที่ในวันที่ 5-6 พฤษภาคมนี้ ที่มหาสารคาม และร้อยเอ็ด รวมถึงในปลายสัปดาห์ ที่สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี จะรับฟังปัญหาเหล่านี้ต่อไป

ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ สถาบันการเงิน นักการเมือง สส. ผู้บริหารพรรคฯ ต่างมาทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ประชาชน ส่วนวิธีการแก้ไขปัญหา ก็อาจจะแตกต่างกันไป และทุกคนมีสิทธิวิจารณ์วิจารณ์กันได้ แต่ขอให้ยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก และนำความเดือดร้อนของประชาชน มาเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหา

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแสดงวิสัยทัศน์จากเวทีดังกล่าวทำให้ฝ่ายค้านมองว่ารัฐบาล พยายามบีบผู้ว่าฯธปท.ให้เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล

นายกฯ กล่าวว่า ไม่เคยบีบ และสามารถไปฟังจากคำแสดงวิสัยทัศน์ได้ เพราะเป็นการสะท้อนความต้องการของประชาชน ถึงการแก้ไขปัญหา

ส่วน

เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ เมื่อมีการวิจารณ์วิจารณ์ดังกล่าวออกมาแล้ว จะทำให้การทำงาน ระหว่างรัฐบาล กับ ธปท.ห่างเหิน นายเศรษฐา กล่าวว่า ยอมรับว่ากังวลทุกเรื่อง เพราะไม่อยากให้มีความขัดแย้ง

และพยายามแก้ไขปัญหา ในส่วนที่ตนสามารถทำได้ เชื่อว่า คำแนะนำของนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าฯ ธปท. ที่เคยได้แนะนำมาว่า การประสานงานระหว่างรัฐบาล กับธปท. ควรกระทำผ่านสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ที่เป็นหน่วยงานของกระทรวงการคลัง จึงจะมีการพยายามพูดคุยกันต่อไป พร้อมย้ำว่า รัฐบาลให้เกียรติทุกองค์กร

เมื่อถามถึงการพบเจอกับผู้ว่าฯ ธปท. อีกครั้ง นายกฯกล่าวว่า หากมีโอกาสจะได้พบ แต่ผู้ว่าฯ ธปท.ได้ขอให้พูดคุยผ่าน สคร.หลังจากนี้จะไปหารือกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ว่า จะมีการประสานงานช่องทางใด

ซึ่งมีหลายช่องทาง เพื่อพูดคุยกับผู้ว่าฯธปท.ได้บ้าง และยืนยันว่ารัฐบาลพยายามทำงานกับทุกคนองค์กรให้ดีขึ้น ไม่สร้างความขัดแย้งจนทำให้ประชาชนเดือดร้อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ​“เศรษฐา”เผยผู้ว่าฯธปท.แนะเองให้ออกเป็นพ.ร.บ.กู้เงินทำดิจิทัลวอลเล็ต

อ้างอิง: เฟสบุ๊คภูมิธรรม เวชยชัย