Krungthai COMPASS ประสานเสียงปี’68 เทรนด์เที่ยว “แมน-เมด เดสิเนชั่น” มาแรง แนะภาคธุรกิจในไทยขยับแผนพัฒนาการลงทุน งัดตัวเลขเปรียบเทียบปรากฏการณ์กาตาร์ จัดฟุตบอลโลกโกยเงินมหาศาล ยันปี’68ตลาดกลุ่มนี้พร้อมเปย์เฉลี่ย 58,300 บาท/คน/ทริป
ดร. สุปรีย์ ศรีสำราญ ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือ “แมน-เมด เดสติเนชั่น :Man-made Destination” กำลังเป็นเทรนด์มาแรง โดยนักเดินทางทั่วโลกต้องการค้นหาประสบการณ์ความแตกต่างจากเดิม ชี้เป็นโอกาสลงทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงแมนเมดในไทย ต้อนรับตลาดต่างชาติ สร้างรายได้เพิ่มและช่วยกระตุ้นการจ้างงาน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะยาว
จากการประมวลผลสถานการณ์ท่องเที่ยวในไทยขยายตัวต่อเนื่อง ตลอด 9 เดือนแรกปี 2567 เปรียบเทียบกับช่วงก่อนโควิดปี 2562 พบตลาดเที่ยวไทยมีสูงถึง 199.5 ล้านคน-ครั้ง สูงกว่าช่วงโควิด 121 % ส่วนตลาดต่างชาติทำได้ 26.1 ล้านคน คิดเป็นราว 88%โดยเฉพาะการเทียบกับกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางโตก้าวกระโดดจากกาตาร์ ส่วนหนึ่งเพราะได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกปี 2565 จึงมีต่างชาติเข้าไปเที่ยวเพิ่มกว่า 3 เท่า สะท้อนความสำเร็จการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแมนเมดด้วย
@ชี้เป้าคนไทยหันเที่ยวแมนเมดในประเทศหลายรูปแบบ
ขณะที่ไทยมีนักท่องเที่ยวสนใจในรูปแบบแมนเมดมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่องปี 2567 คาดมีนักเดินทาง “คนไทย” เที่ยวแมนเมด 35.7 ล้านคน คิดเป็น 17.9% ของทั้งหมด แบ่งเป็น อันดับ 1 กลุ่มการประชุมและนิทรรศการ 22.2 ล้านคน อันดับ 2 ผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุก 9.2 ล้านคน อันดับ 3 กลุ่มท่องเที่ยวเชิงเทศกาล 4.3ล้านคน และ 9.2 ล้านคน ส่วน “ต่างชาติ” มีประมาณ 2.4 ล้านคน คิดเป็น 7% ของต่างชาติทั้งหมด แบ่งเป็น อันดับ 1 กลุ่มการประชุมและนิทรรศการ 1 ล้านคน อันดับ 2 กลุ่มท่องเที่ยวเชิงเทศกาล 1.0 ล้านคน อันดับ 3 ผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุก 4.6 แสนคน
ดร. ฉมาดนัย มากนวล ผู้อำนวยการฝ่าย Business Risk and Macro Research ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า เทรนด์ท่องเที่ยวแมนเมดสอดรับความต้องการแสวงหาประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งในแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม กิจกรรมประเพณี การท่องเที่ยวเพื่อความบันเทิง การประชุมและนิทรรศการระดับโลก (MICE) ทาง Krungthai COMPASS ประเมินเรื่องการผลักดันตลาดการท่องเที่ยวแมนเมดจะส่งผลให้ปี 2568 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 3.1 ล้านคน หรือเติบโตจากปี 2565 ราว 2.5 เท่า
แบ่งเป็น กลุ่มที่ 1 ไมซ์/MICE 1.4 ล้านคน กลุ่มที่ 2 ผู้เยี่ยมเยือนสวนสนุก 1.2 ล้านคน กลุ่มที่ 3 นักท่องเที่ยวเชิงกิจกรรมและเทศกาล 4.8 แสนคน
ปี 2568 นักท่องเที่ยวแบบแมนเมดพร้อมใช้จ่ายเงินเฉลี่ย58,300 บาท/คน/ทริป สูงกว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ โดยจะมีจำนวนวันพักนานและมีรายจ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ คาดจะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศถึง 1.8 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.9% ของจีดีพีประเทศ
@ Krungthai COMPASSงัดโมเดลแมนเมดกาตาร์กับเมืองไทย
นายกฤตตฤณ เหล่าฤทธิ์ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า จากกรณีศึกษาในต่างประเทศ พบการลงทุนเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว Man-made Destination สามารถสร้างรายได้ในอนาคตคุ้มค่า เช่น โครงการพัฒนาเซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ ลงทุนราว 2.1 แสนล้านบาท สร้างรายได้สูงถึงปีละ 50,000 ล้านบาท หรือใช้เวลาคืนทุน 5 ปี ส่วนการจัดแข่งขันฟุตบอลโลก Qatar FIFA World Cup 2022 ลงทุน 49,000 ล้านบาท ช่วงจัดการแข่งขันสร้างรายได้ราว 68,000 ล้านบาท เช่น จัดเก็บค่าถ่ายทอดสด และหลังจัดงานทำรายได้ 51,000 ล้านบาท เป็นผลจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก จึงดึงดูดต่างชาติเข้าไปเที่ยวกาตาร์เพิ่มขึ้น ประเมินจะใช้เวลาคืนทุน 10 ปี
นอกจากรายได้แล้วการลงทุนแมนเมดเดสิเนชั่นยังช่วยเพิ่มผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว ยกระดับความสามารถทางการแข่งขัน กระตุ้นการจ้างงาน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาวจึงมองแนวทางพัฒนาการท่องเที่ยวดังกล่าวในไทย มีโอกาสสร้างรายได้เพิ่มเติมให้ประเทศอีกมาก โดยเฉพาะการบุกเบิกสถานที่ท่องเที่ยวแบบครบวงจร “เอนเตอร์เทนเมนท์ คอมเพล็กซ์” หรือการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวสู่ศูนย์รวมความบันเทิงของครอบครัวผนวกการจัดงานเมกะอีเวนท์ระดับโลก
ดังนั้นการทำความเข้าใจนักท่องเที่ยวแมนเมดแต่ละประเภทจึงมีส่วนสำคัญกับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z และ Gen Y กระหายจะค้นหาแหล่งท่องเที่ยวแปลกใหม่หรืองานเทศกาลในพื้นที่ต่างวัฒนธรรม ยังมีแนวโน้มเติบโตในอนาคตต่อไป
เรื่องโดย #เพ็ญรุ่งใยสามเสน #gurutourza
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ขาเที่ยวจัดด่วน “Traveloka Year-End Sale” 5 เคล็ดลับ ปีใหม่ลด 30%