

ท่องเที่ยวญี่ปุ่น คู่แข่งการท่องเที่ยวไทย ในการเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยม สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก กำลังจะแซงหน้า เมื่อเปรียบกับในจำนวนนักท่องเที่ยวในครึ่งปีแรก
ล่าสุด การท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้ทำลายสถิติสูงสุด 4 เดือนติด โดยในเดือนมิถุนายน นักท่องเที่ยวต่างชาติแห่เข้ามาถึง 3.14 ล้านคน และ ในช่วงครึ่งปีแรก (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567) มีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 17.78 ล้านคน ซึ่งสูงกว่าไทย ที่มีจำนวนนักท่องเที่ยว 17.5 ล้านคนในช่วงเวลาเดียวกัน
ข้อมูล จากองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น (JNTO) ระบุว่า การท่องเที่ยวญี่ปุ่น ได้รับการกระตุ้นจากเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัว และ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ
นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ คาดการณ์ว่า การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะสูงถึง 8 ล้านล้านเยน (ประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปีนี้ และรัฐบาลต้องป้องกันไม่ให้เกิด “ภาวะนักท่องเที่ยวล้นตลาด” โดยคาดว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะกลายเป็นภาคการส่งออกที่ใหญ่ เป็นอันดับสองของญี่ปุ่นในปี 2567 รองจากยานยนต์
เงินเยนอ่อนค่ารอบ 38 ปี ดึงคน ท่องเที่ยวญี่ปุ่น
เงินเยนที่อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจสำหรับนักเดินทางต่างชาติ
จาก 23 ตลาดท่องเที่ยว ที่ JNTO ติดตาม นักเดินทางจาก 18 ภูมิภาค ด้สร้างสถิติใหม่สำหรับผู้มาเยือนในเดือนมิถุนายน นักท่องเที่ยวจากไต้หวันและสหรัฐอเมริกาเข้ามาท่องเที่ยวทำสถิติสูงสุดในทุกเดือน
“เงินเยนที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ญี่ปุ่นมีเสน่ห์ดึงดูดใจมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย และ กระตุ้นให้มีการวางแผนท่องเที่ยวแบบตามใจชอบ” นาโอมิ มาโนะ ประธานบริษัทตัวแทนท่องเที่ยวระดับไฮเอนด์ Luxurique กล่าว
นอกจากนี้ JNTO ระบุว่าจำนวนนักท่องเที่ยว จากจีนแผ่นดินใหญ่ในเดือนมิถุนายน ลดลง 25% เมื่อเทียบ กับเดือนเดียวกันในปี 2019
แม้ว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ แต่ผู้คนจำนวนมากที่มาเที่ยวตามจุดท่องเที่ยวยอดนิยมได้สร้างความไม่พอใจให้กับคนในพื้นที่บางส่วน และทำให้ผู้กำหนดนโยบายเกิดความกังวล
เส้นทางที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวพลุกพล่าน และ ขยะที่เพิ่มมากขึ้นบนภูเขาไฟฟูจิ ทำให้ทางการต้องกำหนดค่าธรรมเนียมเข้าชม และ จำกัดจำนวนนักปีนเขาเป็นครั้งแรก
นายกเทศมนตรีเมืองฮิเมจิ ได้เสนอแนะให้เรียกเก็บเงินจากชาวต่างชาติประมาณ 6 เท่าของอัตราที่ผู้อยู่อาศัยจ่ายเพื่อเข้าชมปราสาทที่เป็นมรดกโลก
รัฐบาลญี่ปุ่น ยังคงคาดหวังว่าการท่องเที่ยวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจของประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีคิชิดะ ย้ำเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวเป็นสองเท่าเป็น 60 ล้านคนต่อปี และเพิ่มการใช้จ่ายเป็น 15 ล้านล้านเยนภายในปี 2030
ท่องเที่ยวญี่ปุ่น มีจุดเด่นวัฒนธรรมและประเพณี ที่โดดเด่น เช่น การชงชา ซากุระ ออนเซ็น และประวัติศาสตร์ของซามูไรและเกอิชา มีความโดดเด่นด้านเทคโนโลยีล้ำสมัยและนวัตกรรม รวมทั้ง ฤดูกาลและธรรมชาติที่ นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับการชมซากุระในฤดูใบไม้ผลิ ใบไม้เปลี่ยนสีในฤดูใบไม้ร่วง และก ารเล่นสกีในฤดูหนาว ยิ่งไปกว่านั้นอาหารเช่น ซูชิ ราเมน และซาชิมิ เป็นที่นิยมไปทั่วโลก
ท่องเที่ยวไทย คึกคักไม่แพ้กัน
สำหรับประเทศไทย ดูเหมือนจะเก็บสถิติตัวเลขนักท่องเที่ยวละเอียดยิบเป็นรายสัปดาห์ ซึ่งทางภาครัฐให้ความสำคัญมาก ในยุคที่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพื่อการวางแผนกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาถึง 3.17 ล้านคน และ ในช่วงครึ่งปีแรก (1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2567) มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งสิ้น 17.5 ล้านคน
สำหรับ เป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี 2567 คือการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา 36.7 ล้านคน ทำรายได้ 3 ล้านล้านบาทและในปี 2568 ตั้งเป้าว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 40 ล้านคน สร้างรายได้ 3.4 ล้านล้านบาท
สำหรับการท่องเที่ยวญี่ปุ่นในยุคนี้ มักจะมีการเปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวไทย และ เวียดนาม ซึ่งขึ้นว่าเป็นการท่องเที่ยวแบบประหยัด และ คุ้มค่า และ เป็นคนละตลาดกัน แต่ในยุคค่าเงินเยนอ่อนตัวนี้มักจะมีคอนเทนท์เกี่ยวกับการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในยุคนี้แทบไม่แตกต่างกัน และ กลายเป็นคู่แข่งโดยตรง
แม้การท่องเที่ยว ของแต่ละประเทศมีลักษณะ และ จุดเด่นที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลให้แต่ละประเทศ ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มต่าง ๆ ได้
แต่ในแง่ของการตลาดและการดึงดูดนักท่องเที่ยวจากตลาดเดียวกัน เช่น จีน เกาหลีใต้ และยุโรป ถือว่าเป็นคู่แข่งกัน เนื่องจากนักท่องเที่ยวต้องเลือกว่าจะไปเที่ยวที่ใดตามความสนใจและงบประมาณของตนเอง
https://thejournalistclub.com/japan-charged-foreign-tourists-locals/