ปลัดมหาดไทยเผย ยังมีเจ้าหนี้นอกระบบเหิมเกริม ข่มขู่ชาวบ้าน

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย

ปลัดมหาดไทยเผย ยังมีเจ้าหนี้นอกระบบเหิมเกริม ข่มขู่ชาวบ้าน ยอดลงทะเบียนหนี้นอกระบบ 15 วัน 96,783 ราย มูลหนี้ 5.7 พันล้านบาท

  • ย้ำหนี้นอกระบบเป็นเหมือนไฟไหม้บ้าน
  • ที่ทุกหน่วยงานต้องช่วยกันสร้างการรับรู้

วันนี้ (15 ธ.ค. 66) นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ยอดการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 15 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน มีมูลหนี้รวม 5,704 ล้านบาท ประชาชนลงทะเบียนแล้ว 96,783 ราย โดยเป็นการลงทะเบียนผ่านระบบออนไลน์ 85,820 ราย และการลงทะเบียน ณ ศูนย์อำนวยการแก้ไขหนี้นอกระบบ 10,963 ราย รวมจำนวนเจ้าหนี้ 67,635 ราย

ยอดการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งเป็นวันที่ 15 นับตั้งแต่เปิดลงทะเบียน

สำหรับพื้นที่ที่มีผู้ลงทะเบียนมากที่สุด 5 ลำดับแรกคือ 1. กรุงเทพมหานคร ยังมากที่สุด มีผู้ลงทะเบียน 6,122 ราย เจ้าหนี้ 5,033 ราย มูลหนี้ 485 ล้านบาท 2. จังหวัดนครศรีธรรมราช มีผู้ลงทะเบียน 4,165 ราย เจ้าหนี้ 3,308 ราย มูลหนี้ 250 ล้านบาท 3. จังหวัดสงขลา มีผู้ลงทะเบียน 3,861 ราย เจ้าหนี้ 2,702 ราย มูลหนี้ 240 ล้านบาท 4. จังหวัดนครราชสีมา มีผู้ลงทะเบียน 3,751 ราย เจ้าหนี้ 2,336 ราย มูลหนี้ 274 ล้านบาท 5. จังหวัดขอนแก่น มีผู้ลงทะเบียน 2,512 ราย เจ้าหนี้ 1,956 ราย มูลหนี้ 179 ล้านบาท

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ลงทะเบียนน้อยที่สุด 5 ลำดับแรก ได้แก่ 1. จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้ลงทะเบียน 130 ราย เจ้าหนี้ 83 ราย มูลหนี้ 5 ล้านบาท 2. จังหวัดระนอง มีผู้ลงทะเบียน 196 ราย เจ้าหนี้ 126 ราย มูลหนี้ 14 ล้านบาท 3. จังหวัดสมุทรสงคราม มีผู้ลงทะเบียน 258 ราย เจ้าหนี้ 177 ราย มูลหนี้ 8 ล้านบาท 4. จังหวัดตราด มีผู้ลงทะเบียน 330 ราย เจ้าหนี้ 197 ราย มูลหนี้ 10 ล้านบาท และ 5. จังหวัดมุกดาหาร มีผู้ลงทะเบียน 355 ราย เจ้าหนี้ 243 ราย มูลหนี้ 20 ล้านบาท

 “หนี้นอกระบบเป็นเหมือนไฟไหม้บ้าน หากลูกหนี้ไม่มีเงินส่งดอกตรงเวลาเจ้าหนี้ก็จะเอาเรื่อง แต่หากไม่มีเงินส่งเงินต้นแต่มีเงินส่งดอกเบี้ยเจ้าหนี้ก็จะไม่ว่าอะไร และลูกหนี้ก็จะถูกกินเงิน ถูกกินค่าดอกเบี้ยมหาโหดไปเรื่อย ๆ และนายทุนเงินกู้นอกระบบก็ไม่เคยสนใจ เพราะเจ้าหนี้ล้วนแต่อยากได้ ดอกเบี้ยมหาโหด” ปลัดมหาดไทยกล่าว

ทั้งนี้ทีมมหาดไทยทุกพื้นที่ต้องบูรณาการทุกหน่วยงานช่วยกันประชาสัมพันธ์ว่าลูกบ้านคนใดเป็นลูกหนี้มหาโหด ก็ขอให้ไปบอกนายอำเภอ เพื่อที่จะได้เชิญเจ้าหนี้และลูกหนี้มาเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ว่ามีดอกเท่าไหร่ เงินต้นเท่าไหร่ ส่งไปแล้วเท่าไหร่ จะได้มีแนวทางการวางแผนใช้หนี้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาของอำเภอลักษณะนี้ถือเป็น “ยาฝรั่ง” แต่สิ่งที่จะเป็น “ยาไทย” คือ ต้องส่งเสริมให้คนหันมาพึ่งพาตนเอง ใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ลดภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน เช่น การทำให้พื้นที่รอบบ้านเป็นแหล่งอาหาร ทั้งปลูกพืชผักสวนครัว พืชสมุนไพร เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงกบ เลี้ยงปลา เพื่อจะได้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ขณะเดียวกันก็ต้องใช้กลไกทีมบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน หนุนเสริมการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อประชาชนจะได้มีเงินไว้ใช้ในชีวิตประจำวันร่วมกับครอบครัว

“ในขณะนี้ ในหลายพื้นที่ได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้แล้ว และในบางพื้นที่ก็ยังคงเกิดกระแสการตื่นตัวของเจ้าหนี้ที่มีการออกมาแสดงการข่มขู่ และสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน จึงขอให้ฝ่ายปกครองได้บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และองคาพยพในระดับพื้นที่ ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการปราบปรามผู้มีอิทธิพลอย่างเข้มข้น หากพบการกระทำผิดกฎหมายต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด และขอให้ทุกภาคส่วนยังคงช่วยกันสร้างการรับรู้ให้แก่พี่น้องประชาชนได้ลงทะเบียนควบคู่กับการให้ความช่วยเหลือตามแนวทางที่กำหนดอย่างสุดความสามารถ” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวเพิ่มเติม

กระทรวงมหาดไทยยังคงเปิดรับลงทะเบียนพี่น้องประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบ ทั้งทางออนไลน์ที่ https://debt.dopa.go.th หรือวอร์คอินได้ ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขตทั่วประเทศ โดยสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชนในพื้นที่