รัฐบาลคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว



รัฐบาลคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว นำร่องร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพหน่วยบริการทุกระดับทั้งรัฐและเอกชน

  • ลดขั้นตอน ลดความแออัด
  • ลดบุคลากรทางการแพทย์
  • ลดความเหลื่อมล้ำ
  • ขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี

วันนี้ (7 มกราคม 2567) ณ ลานสาเกตนคร หน้าหอโหวด 101 จังหวัดร้อยเอ็ด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick off “30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” โดยมีนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

พร้อมด้วยนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายทรงพล ใจกริ่ม ผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด คณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพ ผู้นำท้องถิ่น อสม. ชมรมผู้สูงอายุ และประชาชน จำนวน 10,101 คน เข้าร่วมพิธีเปิด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง คือ แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส

นางสาวแพทองธารกล่าวว่า ประเทศไทยขับเคลื่อนนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มาตั้งแต่ปี 2544 เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยในการรับบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ถือเป็นนโยบายสาธารณสุขที่สำคัญและมีการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้ประชาชนคลายความกังวลเรื่องภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ

สามารถลดครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ ซึ่งการขับเคลื่อนต่อจากนี้ คือการยกระดับเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้คนไทยเข้ารับบริการสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก แล็บและร้านยาใกล้บ้าน

เชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนหน่วยบริการ จะพบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล เนื่องจากข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของแต่ละหน่วยบริการไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ประชาชนต้องเสียเวลาในการรวบรวมข้อมูลการรักษาของตนเองจากสถานพยาบาลต่าง ๆ ซึ่งทั้งไม่สะดวกและเป็นภาระค่าใช้จ่ายแฝง

ขณะที่แพทย์ผู้รักษามักจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการรักษา ซึ่งข้อมูลส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นประวัติการรักษา ประวัติการแพ้ยา การได้รับวัคซีน ผลทางห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาในหน่วยบริการอื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน รัฐบาลจึงยกระดับระบบ 30 บาท ให้สามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน

โดยพัฒนาระบบบริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ช่วยให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพและคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ เพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดขับเคลื่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส และร้อยเอ็ด จากนั้นระยะที่ 2 จะขยายอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา และขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี โดยจัดงานเปิดตัวขึ้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่องเพื่อประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ได้มีการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลจตุรพักตร์พิมาน ร้านยา ร้านแล็บ คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม และโรงพยาบาลร้อยเอ็ด พบว่ามีความพร้อมในการขับเคลื่อนเต็มร้อย

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หวังว่านโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพได้ทุกที่ ให้คนไทยทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังในการดำเนินชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป