อย. แจง “ยาย้อมผม” มีความปลอดภัย

อย.แนะยาย้อมผมอาจก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ ผู้บริโภคและช่างทำผมควรใช้อย่างระมัดระวัง อย่าย้อมผมบ่อยจนเกินไป

  • ปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนอย่างเคร่งครัด
  • ควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง
  • ควรทิ้งระยะห่างในการย้อมผม

เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการเผยแพร่ข่าวผ่านสื่อออนไลน์ว่าการใช้ยาย้อมผมบ่อยๆ เป็นอันตรายต่อตับหรือไตนั้น อย. ได้ประสานแพทย์ผู้ให้ข่าวแล้ว ทราบว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นรายงานในต่างประเทศ พบผู้ป่วยบางรายมีความผิดปกติของตับและไตสัมพันธ์กับการสัมผัสยาย้อมผม แต่จำนวนเคสไม่มาก ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าสารเคมีที่ใช้เป็นส่วนประกอบในยาย้อมผมเป็นอันตรายต่อตับหรือไต แต่การสัมผัสสารเคมีบ่อยหรือนานเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อสุขภาพ ทั้งการระคายเคืองหนังศีรษะและการแพ้ ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ตรวจสอบยาย้อมผมอย่างสม่ำเสมอ พบว่ายาย้อมผมที่มีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ใช้ชนิดและปริมาณของสารเคมีเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยในการใช้ ขอให้ผู้บริโภคมั่นใจ

ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเครื่องสำอางที่มีฉลากภาษาไทย ระบุชื่อ ประเภทเครื่องสำอาง แสดงชื่อสารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสม ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ปริมาณสุทธิ ครั้งที่ผลิต เดือนปีที่ผลิต เดือนปีที่หมดอายุ (สำหรับเครื่องสำอางที่มีอายุการใช้น้อยกว่า 30 เดือน) คำเตือน ที่สำคัญต้องมีเลขที่ใบรับจดแจ้ง ซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือมีหลักแหล่งแน่นอน หรือร้านค้าออนไลน์ที่มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพราะหากใช้แล้วเกิดปัญหาจะได้ติดตามย้อนกลับเพื่อตรวจสอบได้

“ ยาย้อมผมอาจก่อให้เกิดการแพ้หรือระคายเคืองได้ ผู้บริโภคและช่างทำผมควรใช้อย่างระมัดระวัง ปฏิบัติตามวิธีใช้และคำเตือนอย่างเคร่งครัด และควรทดสอบการแพ้ก่อนใช้ทุกครั้ง ถึงแม้จะเป็นยี่ห้อหรือสีเดียวกับที่เคยใช้ก็ตาม โดยทาบริเวณท้องแขนหรือหลังใบหู ทิ้งไว้ 24-48 ชั่วโมง หากเกิดความผิดปกติ เช่น ผื่นคัน ระคายเคือง ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์นั้น และอย่าย้อมผมบ่อยจนเกินไป ควรทิ้งระยะห่างในการย้อมผม”

เภสัชกรวีระชัย กล่าวว่า อย. ขอย้ำเตือน ผู้นำเข้าเครื่องสำอางต้องมีความรับผิดชอบต่อสินค้าที่นำเข้ามาขาย คัดเลือกผลิตภัณฑ์จากโรงงานผลิตที่น่าเชื่อถือ ผู้ขายต้องตรวจสอบการจดแจ้ง และจัดทำฉลากภาษาไทยที่ครบถ้วน ถูกต้องก่อนจำหน่ายแก่ผู้บริโภค  หากมีการแสดงฉลากด้วยข้อความอันเป็นเท็จหรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ ผู้รับจ้างผลิต จะมีโทษ จำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีเครื่องสำอางไม่มีฉลากภาษาไทยหรือมีข้อความอันจำเป็นไม่ครบถ้วน ผู้นำเข้า/ผู้ผลิต/ผู้รับจ้างผลิตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นผู้ขายเครื่องสำอางทางออนไลน์ จึงมีหน้าที่ตรวจสอบด้วยว่าเครื่องสำอางที่ขายได้รับการจดแจ้งอย่างถูกต้อง มีการแสดงฉลากภาษาไทยครบถ้วน ถูกต้อง เพราะผู้บริโภคที่ซื้อทางออนไลน์ไม่มีโอกาสได้เห็นสินค้าและฉลากของผลิตภัณฑ์จริง

ทั้งนี้หากผู้บริโภคพบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ