ทุกวันนี้ มิจฉาชีพ โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” เหิมเกริมหนัก!!
งัดสารพัดกลโกงทางออนไลน์ มาใช้หลอกลวงต้มตุ๋นประชาชน เพื่อหวังให้ “เหยื่อ” โอนเงินให้ จนสร้างความเสียหายให้กับผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะ “ผู้สูงวัย” ที่หลอกง่ายที่สุด ทำเอาบางคนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว
และสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยมีจำนวนเหยื่อเพิ่มขึ้น และจำนวนเงินที่เหยื่อโอนให้แก๊งมิจฉาชีพ ก็มีมากขึ้น ส่งผลให้รัฐบาล“น.ส.แพทองธาร ชินวัตร”เร่งปราบ“อาชญากรรมทางเทคโนโลยี”
โดยเฉพาะการสกัดการเปิด “บัญชีม้า” และ “บัญชีม้านิติบุคคล” เครื่องมือสำคัญ ที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงเหยื่อให้หลงโอนเงินให้
พร้อมกับมอบหมายให้ “กระทรวงพาณิชย์” ดำเนินการในเรื่อง “บัญชีม้านิติบุคคล” อย่างเร่งด่วน และให้รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบภายใน 30 วัน
อะไรคือ “บัญชีม้า” “บัญชีม้านิติบุคคล” และรัฐบาล รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ มีมาตรการดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร วันนี้มีคำตอบ
รู้จัก “บัญชีม้า–บัญชีม้านิติบุคคล”
ก่อนอื่นขอทำความรู้จัก “บัญชีม้า” และ “บัญชีม้านิติบุคคล” กันก่อน
ข้อมูลจากเว็บไซต์ sosecure.co.th (บริษัท Cybersecurity ในไทย) ระบุว่า“บัญชีม้า” คือ บัญชีธนาคาร ที่มิจฉาชีพเปิด โดยใช้ชื่อของบุคคลหนึ่ง เพื่อใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง
ยกตัวอย่างเช่น ฟอกเงิน ฉ้อโกง หลอกลวงออนไลน์ รับเงินจากเว็บพนัน หรือกิจกรรมอาชญากรรมอื่นๆ
โดยมิจฉาชีพจะหลอกล่อให้คนไปเปิดบัญชีธนาคารในชื่อของบุคคลนั้นๆ แล้วมอบข้อมูลการเข้าถึงบัญชีนั้นให้กับมิจฉาชีพเพื่อใช้งาน โดยเสนอผลตอบแทนการเปิดบัญชีม้าเป็นค่าจ้าง หรือส่วนแบ่งกำไร
นอกจากนี้ มิจฉาชีพอาจใช้วิธีสวมรอยเป็นเจ้าของบัญชี ด้วยการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้เปิดบัญชีออนไลน์ และนำไปใช้ทำธุรกรรมผิดกฎหมาย
ส่วน “บัญชีม้านิติบุคคล” ที่เป็นกลโกงใหม่ของแก๊งมิจฉาชีพนั้น คือ บัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพจ้างวานบุคคลให้ไปจดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วน
จากนั้นจะนำหลักฐานการจดทะเบียนไปเปิดบัญชีธนาคารนิติบุคคล เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมายเช่นกัน
สำหรับบัญชีม้าของนิติบุคคลนี้ หากเหยื่อเอะใจ และตรวจสอบบัญชีปลายทาง ก็จะพบว่าเป็นบัญชีของบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนจริง ซึ่งจะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และหลงเชื่อโอนเงิน
ทั้งๆ ที่ผู้ที่กำลังจะตกเป็นเหยื่อ ไม่ควรโอนเงินทันที แต่ควรตรวจสอบเอกสารการจดทะเบียน เอกสารทางการเงินของบริษัท รายการธุรกรรมในบัญชีธนาคาร เพื่อให้มั่นใจว่า บัญชีดังกล่าวไม่ใช่บัญชีม้าในคราบนิติบุคคล
หลอกโอนเงินบัญชีม้ากว่า 1.4 พันล้านบาท
สถานการณ์การหลอกลวงทางออนไลน์ ที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นนี้ ข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ณ สิ้นเดือนต.ค.67 พบว่า
ดีอี ได้ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตัดเส้นทางการเงินของกลุ่มมิจฉาชีพได้รวมกว่า 1.1 ล้านบัญชี ขณะที่บัญชีม้านิติบุคคล ล่าสุด พบว่า มีมากถึง 602 บัญชี สร้างความเสียหาย 680 ล้านบาท
แต่ปปง.ได้ประกาศรายชื่อบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับบัญชีม้าไปแล้วกว่า 50,000 รายชื่อ รวมบัญชีม้ากว่า 500,000 บัญชี มูลค่าเงินในบัญชีกว่า 1,400 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่มาจากคดี “แก๊งคอลเซ็นเตอร์”
สำหรับเม็ดเงินความเสียหายดังกล่าว ขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างการเสนอให้กระทรวงดีอี แก้ไขร่างพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพ.ศ.2566
เพื่อเปิดช่องให้ ปปง.สามารถนำเงินกว่า 1,400 ล้านาท มาเฉลี่ยคืนให้กับผู้เสียหายได้!!
ปปง.ขึ้นบัญชีบุคคล 5 หมื่นรายชื่อเสี่ยงสูง
ส่วนแนวทางแก้ปัญหา “บัญชีม้า” และ “บัญชีม้านิติบุคคล” นั้น ปปง.ได้จัดทำฐานข้อมูลรายชื่อบุคคลที่มีรายชื่อเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน ในกรณีบุคคลผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้ในการกระทำความผิดมูลฐาน รหัส HR-03
เพื่อส่งผ่านระบบตรวจสอบรายชื่อบุคคลดังกล่าว ให้กับสถาบันการเงิน กลุ่มธนาคาร เพื่อให้นำรายชื่อดังกล่าวไปใช้ตรวจสอบในระดับเข้มข้น และเป็นข้อมูลในการบริหารและบรรเทาความเสี่ยงของลูกค้า
พร้อมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติ เพื่อป้องกันและยับยั้งมิให้มิจฉาชีพได้ใช้บัญชีม้าไปใช้เป็นช่องทางรับเงิน และโยกย้ายเงินที่ได้จากการกระทำความผิด
นอกจากนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสมาคมธนาคารไทย ได้ยกระดับการป้องกันการเปิดบัญชี และจัดการบัญชีม้า โดยเฉพาะบุคคล ที่ยินยอมเปิดบัญชีธนาคารให้คนร้ายใช้
ยกตัวอย่างเช่น การระงับบัญชีของผู้ที่เปิดบัญชีให้คนร้ายทุกบัญชี และการใช้มาตรการ CDD (Customer Due Diligence) ตรวจสอบข้อมูลอย่างเข้มข้นตามระดับความเสี่ยงของผู้เปิดบัญชีใหม่ เป็นต้น
สำหรับบทลงโทษการเปิดบัญชีม้า ตามมาตรา 9 พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีพ.ศ.2566 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ
ส่วนผู้ใดเป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าว เพื่อให้ซื้อขายบัญชีเงินฝาก หรือe-walletซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดทางอาญา มีโทษจำคุก2-5ปี หรือปรับ200,000-500,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และยังอาจถูกดำเนินคดีฐานความผิดที่มิจฉาชีพนำบัญชีม้าไปใช้ ในฐานะตัวการร่วม หรือผู้สนับสนุนการกระทำผิด และอาจถูกฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งด้วย
พาณิชย์-CIB-ปปง.-AOC ตัดวงจรโจรออนไลน์
ขณะเดียวกัน ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 4 พ.ย.67“นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม” อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ “พลตำรวจโทจิรภพ ภูริเดช” ผู้บัญชาการตํารวจสอบสวนกลาง (CIB)
ได้ร่วมกันลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU)“ป้องกันและปราบปรามปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคลและการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)”
โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นจุดเริ่มต้นของการจดทะเบียนนิติบุคคล จึงต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลให้การจดทะเบียนนิติบุคคลรัดกุมขึ้น และเร่งตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงต่อการเปิดบัญชีม้า และเสี่ยงต่อการเป็น Nominee
เพื่อปิดโอกาสไม่ให้มิจฉาชีพนำความน่าเชื่อถือจากการจดทะเบียนนิติบุคคล มาใช้หลอกลวงประชาชน และเร่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ทันที
ทั้งนี้ จะช่วยป้องความเสียหายที่เกิดขึ้น ป้องปรามผู้กระทำความผิดที่มีความคิด วางแผน เตรียมการ ให้หยุดกระทำ และปราบปรามผู้กระทำความผิด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังร่วมกับ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์” (AOC) เชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่มีรายชื่อเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน ตามรหัส HR-03
พร้อมกำหนดมาตรการตรวจสอบและเรียกให้ผู้มีรายชื่อรหัส HR-03 ต้องมาแสดงตนก่อนการรับจดทะเบียนนิติบุคคลทุกรายเพื่อตัดวงจรโจรออนไลน์
อย่างไรก็ตาม หากประชาชนถูกหลอกลวงออนไลน์ สามารถโทร.แจ้ง AOC สายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งพร้อมให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์ แบบ One Stop Service
ตั้งแต่อายัดบัญชีม้าใน1ชั่วโมง ติดตามสถานะการแก้ปัญหาให้เหยื่อเร่งติดตามการคืนเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการจับกุม ดำเนินคดีและขยายผลคดี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : รัฐบาลเดินหน้าผนึกกำลังป้องกันและปราบปรามมิจฉาชีพบัญชีม้านิติบุคคลและนอมินี