กรมบัญชีกลาง แจง แนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์ ยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

เงินสงเคราะห์ กรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลาง แจง แนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์ ยังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย


กรมบัญชีกลาง แจง แนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์ เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียน เพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 65 ประจำปีงบประมาณ 67 กรณีรายการที่โอนเงินไม่สำเร็จ

นางสาวทิวาพร ผาสุข รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง ในฐานะโฆษกกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 อนุมัติแนวทางการจ่ายเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพ แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ให้จ่ายเงินสงเคราะห์ฯ ในอัตรา 100 บาทต่อเดือน เป็นระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2567

เงินสงเคราะห์ เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
กำหนดการจ่ายเงินสงเคราะห์ เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย

โดยจะดำเนินการจ่ายเป็นรายไตรมาส ผ่านระบบพร้อมเพย์และบัญชีเงินฝากธนาคารที่ผู้มีสิทธิแจ้งตามหนังสือให้ความยินยอมโอนเงินสวัสดิการเข้าบัญชีร่วมกับบุคคลอื่นหรือบัญชีบุคคลอื่น โดยผู้สูงอายุที่ได้รับสิทธิจะต้องเป็นผู้สูงอายุที่เกิดก่อนวันที่ 1 กันยายน 2507 ซึ่งมีรายการที่โอนเงินไม่สำเร็จ (Reject) จำนวน 245,288 คน 

โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนผู้สูงอายุ เมื่อวันพุธที่ 30 ตุลาคม 2567 ได้อนุมัติแนวทางการโอนเงินสงเคราะห์เพื่อการยังชีพแก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยที่ได้รับสิทธิในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 

ทั้งนี้ รายการที่โอนเงินไม่สำเร็จ (Reject) และให้ทำการแก้ไขรายการที่โอนเงินไม่สำเร็จ (Reject) จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 6 พ.ย. 67 ครั้งที่ 2 วันที่ 6 ธ.ค. 67 และครั้งที่ 3 วันที่ 6 ม.ค. 68

ทั้งนี้ บัญชีพร้อมเพย์ที่ผูกกับเลขประจำตัวประชาชน ต้องผูกพร้อมเพย์ก่อนวันจ่ายเงิน 3 วัน รวมถึงบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือให้ความยินยอมฯ (กรณีไม่สามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์ได้) ยื่นหนังสือให้ความยินยอมฯ ณ สำนักงานคลังจังหวัด/กรมบัญชีกลาง

อย่างไรก็ตาม การแก้ไขรายการที่โอนเงินไม่สำเร็จ (Reject) ครั้งที่ 3 กรณีที่ไม่มีบัญชีเงินฝากธนาคารตามหนังสือให้ความยินยอมฯ จะเพิ่มช่องทางการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารที่รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมเพย์ของผู้มีสิทธิ ตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : กรมบัญชีกลาง แจงหนังสือราชการปลอม แอบอ้างชื่อกรมหลอกผู้รับบำนาญ