

- หวังตอบทุกโจทย์การใช้ชีวิต ต่อยอดไปสู่แนวคิด “ดีขึ้นเพื่อคุณ ดีขึ้นเพื่อโลก
- จ่อสร้าง Thailand Innovation Hub ศูนย์วิจัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีให้กับ allnex
- เผยปี 65 มีรายได้ขายรวม 678,267 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 46% มีกำไรอยู่ที่ 18,984 ล้านบาท
วันนี้ (20 ก.พ.66) นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ประกาศทิศทางการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2566 ว่า GC ยังคงมุ่งสู่เป้าหมายความยั่งยืน จากแนวคิด “ยิ่งใกล้คุณยิ่งต้องดี” ที่จะตอบทุกโจทย์การใช้ชีวิต ต่อยอดไปสู่แนวคิด “ดีขึ้นเพื่อคุณ ดีขึ้นเพื่อโลก” สะท้อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเคมีภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่ดีขึ้น สำหรับในวันนี้และอนาคต GC มุ่งมั่นจะทำให้ดีขึ้นเพื่อทุกคน และดีขึ้นยิ่งกว่าเดิม
ทั้งนี้ จากปีที่ผ่านมา มีความท้าทายจากปัจจัยภายนอกหลายประการ และในปีนี้ GC มุ่งเน้นการฟื้นตัวและการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ในปี 2566 ด้วยการตั้งเป้าทิศทางเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ โดยใช้กลยุทธ์ 3 Steps Plus : Step Change, Step Out, Step Up โดยมี allnex เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มสร้างการเติบโต มีความแข็งแกร่งทางการเงินรวมถึงมีพอร์ตโฟลิโอที่หลากหลาย ตอบโจทย์เมกะเทรนด์ของโลก

สำหรับความก้าวหน้าโครงการในปี 2566 ประกอบด้วย 1.โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้นโครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ GC ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว คาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566
2.โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อธันวาคม 2565 3.โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปี ของบริษัท NatureWorks ที่จังหวัดนครสวรรค์คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567
4.โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ GC ร่วมทุนกับบริษัท Kuraray และ บริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/2566 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก

นายคงกระพัน กล่าวด้วยว่า GC จะยังใช้กลยุทธ์การแสวงหาโอกาสต่อเนื่อง หลังจากประสบความสำเร็จในการเข้าซื้อกิจการ allnex เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่หรือในต่างประเทศ โดยการปรับองค์กรตั้งหน่วยงานธุรกิจต่างประเทศขึ้น เพื่อต่อยอดการเติบโตของบริษัทฯ มุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยมีเป้าหมายเพื่อมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจในต่างประเทศ สนองตอบความต้องการของผู้บริโภค พร้อมเตรียมสร้าง Thailand Innovation Hub ที่จะเป็นศูนย์วิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีล้ำสมัยให้กับ allnex เพื่อการเติบโตในภูมิภาคเอเชีย
ทั้งนี้ ภาพรวมของแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอน โดยมีแผนการดำเนินงาน Roadmap เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายลดการปลดปล่อยคาร์บอนในปี 2573
1.Efficiency-driven: ดำเนินโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานหลากหลายโครงการ เช่น โครงการอนุรักษ์พลังงาน โครงการ Maptaphut Integration (MTPi) โครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยการใช้พลังงานทดแทน เป็นต้น
2. Portfolio-driven: เดินหน้าปรับสัดส่วนธุรกิจมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยการลงทุนในธุรกิจกลุ่มHigh Value Business (HVB) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy (Leverage Synergy) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดจากธุรกิจ ตลาด และเทคโนโลยี เช่น allnex ที่ GC ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง และสนองตอบความต้องการของผู้บริโภคภายใต้ Megatrends

3.Compensation-driven: ดำเนินโครงการฟื้นฟูและเสริมสร้างสมดุลของระบบนิเวศของป่าร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคสังคมรวมถึงชุมชนต่างๆ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 บนพื้นที่รวมกว่า 2,500 ไร่ อาทิโครงการปลูกป่านิเวศระยองวนารมย์ จำนวน 80 ไร่ ตามหลักการ Eco Forest และสร้างความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย และลงทุนใน Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ในการดักจับและกักเก็บคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ
สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2565 GC มีรายได้จากการขายรวม 678,267 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 46% ในปี2565 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันและรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าของสินค้าคงเหลือให้เท่ากับมูลค่าสุทธิที่จะได้รับ ผลขาดทุนทางบัญชีจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไรจากตราสารอนุพันธ์ทางการเงิน ผลขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์เพื่อประกันความเสี่ยง รายการพิเศษอื่นๆ) ในปีนี้อยู่ที่ 18,984 ล้านบาท
นอกจากนี้ GC ยังประสบความสำเร็จด้านการเงิน โดยการออกและเสนอขายหุ้นกู้สกุลเงินบาท จำนวนรวมทั้งสิ้น30,000 ล้านบาท ให้แก่ผู้ลงทุนสถาบัน ผู้ลงทุนรายใหญ่ ในเดือน ม.ค. 2565 หุ้นกู้สกุลเงินหรียญสหรัฐฯ จำนวน1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. 2565 ออกและจำหน่ายหุ้นกู้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป (Public Offering) มูลค่ารวม 17,000 ล้านบาท อายุ 7 ปี ในเดือน ก.ค. 2565 ลงนามสัญญาเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ จำนวน 27,000 ล้านบาท ในเดือน ก.ย. 2565

รวมถึงเงินกู้ระยะยาว แบบ Sustainability-Linked Loan เป็นครั้งแรกของ GC วงเงิน 15,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้สนับสนุนการดำเนินการด้านความยั่งยืน โดยในส่วนของหุ้นกู้สกุลเงินหรียญสหรัฐฯ จำนวน 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ เงินกู้ระยะยาว แบบ Sustainability-Linked Loan
ทั้งนี้ GC ยังมีการปรับ Business portfolio ของ GC มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนตามแผนกลยุทธ์ โดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจปิโตรเคมีและการแสวงหาความร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ การปรับลดสัดส่วนการลงทุนในบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ในปี 2564 จนถึงในปีที่ผ่านมา
ความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจทั้งการลงทุนเพิ่มเติมในธุรกิจ PVC ในการลงทุนในบริษัท AGC Vinythai หรือAVT ที่ GC ถือหุ้นประมาณ 32% การหาพันธมิตรรายใหม่ในธุรกิจท่าเทียบเรือและถังบรรจุสินค้าเหลวของบริษัทไทยแท้งค์ เทอร์มินัล จำกัด (TTT) รวมถึงการพิจารณาในเรื่องการทำ Asset Monetization ที่เป็นโอกาสในการพันธมิตรรายใหม่เข้าร่วมลงทุนทั้งในธุรกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันและการขยายธุรกิจร่วมกันในอนาคต เพื่อให้สามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวให้ดียิ่งขึ้น

“จากการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้บริษัทสามารถมีเม็ดเงินใหม่ๆ เพื่อสนันสนุนการเติบโตทางธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ ยังช่วยให้บริษัทมีสภาพคล่องและสามารถบริหารจัดการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การลดหนี้สินทางการเงิน เพื่อให้สามารถบริหารต้นทุนทางการเงินได้อย่างเหมาะสม และเพื่อให้บริษัทฯมีโครงการสร้างทางการเงินที่มีความเหมาะสม”
นายคงกระพัน กล่าวว่า ในปีนี้ GC มีการต่อยอดและพัฒนาร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ โครงการความร่วมมือกับพันธมิตรด้านความยั่งยืน ระหว่าง GC และ OR พัฒนาความรู้ด้านความยั่งยืน สร้างความมั่นคงด้านพลังงาน ดำเนินธุรกิจยั่งยืนตลอดห่วงโซ่คุณค่าและพัฒนาธุรกิจร่วมกัน และโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนและพันธมิตรทางธุรกิจกับ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน ศึกษาพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนและเป็นพันธมิตรในด้านการบริการและการเดินทาง เป็นต้น

“นอกจากความร่วมมือกับองค์กรต่างๆ แล้ว GC ยังมีความร่วมมือกับคู่ค้าและพันธมิตรในโครงการ Upcycling Upstyling และการลดปริมาณพลาสติกใช้แล้วผ่าน YOUเทิร์น แพลตฟอร์ม ร่วมกับชุมชนและโรงเรียน รวมถึงการส่งเสริมพันธกิจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Net Zero) ของประเทศ ร่วมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในการปลูกป่าชายเลน และการปลูกป่าภายใต้แนวคิด ยิ่งปลูก ยิ่งดี เพื่อเปลี่ยนพื้นที่กองขยะให้กลายเป็นป่าไม้ร่วมกับกรุงเทพมหานคร เป็นต้น”