ปตท.สผ. ขยายฐานการลงทุนใน UAE เพิ่มเติม

ปิดดีลสำเร็จ ปตท.สผ. ขยายฐานการลงทุนใน UAE เพิ่มเติม
ปิดดีลสำเร็จ ปตท.สผ. ขยายฐานการลงทุนใน UAE เพิ่มเติม

ปตท.สผ. ขยายฐานการลงทุน ในตะวันออกกลาง อย่างต่อเนื่อง เข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในพื้นที่สัมปทานกาชา หนึ่งในแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุด ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.
มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่าบริษัท พีทีทีอีพี มีนา จำกัด (PTTEP MENA Limited) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขาย (Sales and Purchase Agreement หรือ SPA) เพื่อเข้าซื้อสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 10 ในพื้นที่สัมปทานกาชา (Ghasha) นอกชายฝั่ง ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จากบริษัท วินเทอร์แชลล์ ดีอีเอ มิดเดิล อีสต์ จำกัด (Wintershall Dea Middle East GmbH) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของประเทศเยอรมนี

การเข้าร่วมลงทุนในครั้งนี้ นับเป็นความก้าวหน้าในการสร้างฐานการลงทุนที่แข็งแกร่งของปตท.สผ. ในยูเออี รวมถึงการขยายการลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างต่อเนื่อง การซื้อขายสัดส่วนการลงทุนในครั้งนี้ ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงสามารถเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมพิสูจน์แล้วของปตท.สผ. ได้ทันที

“พื้นที่สัมปทานกาชาเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ยูเออีให้ความสำคัญ การเข้าร่วมลงทุนครั้งนี้จึงเป็นอีกความก้าวหน้าสำคัญของปตท.สผ. ในการขยายฐานการลงทุนอย่างแข็งแกร่งในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมทั้ง ยังช่วยเสริมประโยชน์และประสิทธิภาพด้านการบริหารจัดการร่วมกับโครงการสำรวจอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งบริษัทมีการลงทุนอยู่แล้ว โดยเราพร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญระดับโลกเพื่อพัฒนาและผลักดันโครงการให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย” นายมนตรีกล่าว

คาดแปลงสัมปทานกาชาผลิตก๊าซฯ1.5 ล้านลูกบาศก์ฟุต

แปลงสัมปทานกาชา ตั้งอยู่นอกชายฝั่งทะเลทางตะวันตกของเมืองอาบูดาบี ในยูเออี คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในปี 2573

นอกจากนี้ โครงการยังมีแผนการดำเนินงานในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ประมาณ 1.5 ล้านตันต่อปี (MMtpa) เพื่อให้เป็นโครงการผลิตก๊าซฯ ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แปลงสัมปทานกาชายังตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กับโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2 และโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 3 ซึ่งปตท.สผ. มีการร่วมทุนอยู่แล้ว จึงเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการโครงการร่วมกัน นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วปตท.สผ. ยังมีการลงทุนในโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย เอ และโครงการชาร์จาห์ ออนชอร์ แอเรีย ซี ในยูเออีด้วย ซึ่งอยู่ในระยะสำรวจ รวมทั้ง ยังมีโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติแอดนอค (AGP) ที่อยู่ในระยะผลิตด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :ปตท.สผ จัดงานประชุม SSHE Forum 2024

เกี่ยวกับปตท.สผ.

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

ดำเนินธุรกิจสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไทยและความต้องการใช้พลังงานของประเทศที่เข้าไปลงทุน

ปตท.สผ.ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 2528 และ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2536 มีทุนจดทะเบียน 3,969,985,400 บาท ด้วยพันธกิจในการเป็นบริษัทพลังงานของประเทศไทยพร้อมกับการสร้างคุณค่าร่วมให้กับพันธมิตรปตท.สผ. ได้ขยายการลงทุนในโครงการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียมไปกว่า 50 โครงการทั้งในและต่างประเทศ เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตะวันออกกลาง และแอฟริกา

ปัจจุบันปตท.สผ.ได้ขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจใหม่นอกเหนือจากการสำรวจ และ ผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นธุรกิจหลัก โดยมุ่งเน้น พลังงานรูปแบบใหม่ของอนาคต นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อ รองรับการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมพลังงานควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำและการเติบโตในอนาคต

ในการดำเนินธุรกิจปตท.สผ. ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการก๊าซเรือนกระจก และ ภาวะโลกร้อน และสนับสนุนเป้าหมายการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทย โดยได้กำหนดเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) ด้วยแนวคิดEP Net Zero 2050 และ ยังให้ความสำคัญกับการดำเนินงานควบคู่ไปกับ การดูแลชุมชน สังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมทั้ง มีแนวทาง ในการดำเนินธุรกิจโดย ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจริยธรรมธุรกิจเพื่อ สร้างคุณค่าและการเติบโตอย่างยั่งยืนร่วมกัน