ปิดดีลลดค่าทางด่วน แลกขยายเวลาสัมปทาน 22 ปี

ปิดดีลลดค่าทางด่วน แลกขยายเวลาสัมปทาน
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและ รมว.คมนาคม

คมนาคม ได้ข้อสรุป เจรจาเอกชน ปิดดีลลดค่าทางด่วน จ่ายสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย ภายในสิ้นปีนี้ จากอัตราปัจจุบันอยู่ที่ 25 – 90 บาท แลกขยายเวลาสัญญาสัมปทาน ทางด่วนไปอีก 22 ปี 5 เดือน ยกเลิกเก็บเงินค่าผ่านทาง ด่านประชาชื่นขาออก และด่านอโศกขาออก จากเดิมเก็บค่าผ่านทาง 25 บาท “สุริยะ”ยันดีลนี้ ไม่เอื้อเอกชน

ปิดดีลลดค่าทางด่วน แลกขยายเวลาสัมปทาน 22ปี

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้เจรจากับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้รับสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 เรื่อง ปรับลดอัตราค่าผ่านทางพิเศษ(ทางด่วน) เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนนั้น ขณะนี้ได้ข้อสรุปแล้ว

โดยทาง BEM จะปรับลดค่าผ่านทาง ให้เหลือสูงสุด ไม่เกิน 50 บาทตลอดสาย จะเริ่มดำเนินการใช้กับทางด่วน ขั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน – พระราม 9 ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร (กม.) เนื่องจากมีผู้ใช้ทางเป็นจำนวนมาก โดยมีเงื่อนไข แลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วน เป็นเวลา 22 ปี 5 เดือน นับจากสัญญาเดิมที่ จะสิ้นสุดในปี 2578 เลื่อนไปสิ้นสุดสัญญาในปี 2601

เปิดรายละเอียดอัตราค่าทางด่วนใหม่

สำหรับอัตราค่าทางด่วนใหม่ ที่จะปรับลดลงมา ภายหลังจากที่แก้ไขสัญญาแล้ว จะเริ่มต้นที่ 25 บาท และสูงสุดไม่เกิน 50 บาท จากในปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 25 – 90 บาท โดยจะยกเลิกการเก็บค่าผ่านทางที่ด่านประชาชื่นขาออก และด่านอโศก ขาออก ที่ปัจจุบันเก็บค่าผ่านทางจำนวน 25 บาท เป็นไม่ต้องเสียค่าผ่านทาง เนื่องจากมีปริมาณรถหนาแน่น จะทำให้การจราจรคล่องตัวขึ้น

ส่วนด่านประชาชื่นขาเข้า เดิมมีค่าผ่านทาง 65 บาท ปรับเหลือ 50 บาท ขณะที่ ด่านอโศกขาเข้า เดิมมีค่าผ่านทาง 50 บาท ปรับเหลือ 25 บาท และด่านศรีนครินทร์ขาเข้า จ่ายเงินค่าผ่าน 25 บาท

ตาราง ปรับลดอัตราค่าทางด่วนใหม่
ตารางรายละเอียดปรับลดอัตราค่าทางด่วนใหม่

ลดส่วนแบ่งรายได้กทพ.จากเดิม BEM:กทพ. อยู่ที่ 40:60 เหลือ 50:50

นายสุริยะกล่าวว่า หลังจากปรับลดอัตราค่าผ่านทางด่วนลงมาแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะใช้อัตราค่าผ่านทางใหม่นี้ตลอดอายุสัญญา แต่จะพิจารณาปรับค่าผ่านทางทุก 10 ปี ตามอัตราเงินเฟ้อ หรือ ดัชนีผู้บริโภค (CPI)

อย่างไรก็ตาม BEM จะต้องรับภาระในการลงทุนก่อสร้าง โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท – พระราม 9 เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด บนทางพิเศษศรีรัช โดยทางด่วนสายนี้จะเป็นทางด่วนทับซ้อนแนวเส้นทางเดิม จึงไม่ต้องเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จะปรับลดส่วนแบ่งรายได้ ระหว่าง กทพ.กับ BEM จากปัจจุบัน กทพ.รับ 60% ส่วน BEM รับ 40% เหลือเป็น 50% เท่ากัน หรือแบ่งกันคนละครึ่ง เพื่อนำไปชดเชยให้กับผู้รับสัมปทานในส่วนของรายได้ที่หายไป ซึ่งเงื่อนไขทั้งหมดนี้ต้องมีการ แก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่

สุริยะให้คำมั่น สิ้นปีนี้ ได้ลดค่าผ่านทางด่วนแน่นอน

ผมมั่นใจว่า ภายในสิ้นปีนี้ ประชาชนจะได้จ่ายค่าทางด่วน ในอัตราสูงสุดไม่เกิน 50 บาทตลอดสายอย่างแน่นอน โดยขณะนี้กทพ.ได้จัดทำร่างแก้ไขสัญญาสัมปทานใหม่เสร็จแล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการส่งร่างการแก้ไขสัญญาให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดว่าใช้เวลาประมาณ 1-2 เดือน ก่อนจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และขอย้ำว่าประชาชนจะเสียค่าทางด่วนที่ถูกลงภายในปีนี้อย่างแน่นอน” รมว.คมนาคมกล่าว

ปฎิเสธ ปิดดีลลดค่าทางด่วน แลกขยายเวลาสัมปทาน เอื้อประโยชน์ให้เอกชน

นายสุริยะ กล่าวว่า การแก้ไขสัญญาสัมปทานครั้งนี้ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับเอกชน เรื่องนี้สามารถอธิบายผลตอบแทนทางการเงินได้ เพราะเอกชนก็ต้องลงทุนก่อสร้าง โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 สายงามวงศ์วาน-พระราม 9 หรือDouble Deck ช่วงงามวงศ์วาน – พญาไท – พระราม 9 และที่สำคัญ เป็นการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ต้องเจอกับการจราจรติดขัดทุกวัน จึงไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน แต่อย่างใด

นายสุริยะยังกล่าวถึง รายได้ของพนักงาน และลูกจ้างของ กทพ. ที่อาจจะลดลงหลังปรับลดสัดส่วนรายได้กับเอกชนแล้วนั้น ต้องมองว่า กทพ.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นมา เพื่ออำนวยความสะดวก ให้กับประชาชน ซึ่งก็เห็นใจพนักงาน

แต่ในที่สุดแล้ว ต้องมองว่าประชาชนได้ประโยชน์อะไร และสิ่งที่เป็นข้อตกลงกัน ก็ผ่านการกลั่นกรองจากผู้ว่ากทพ.แล้วว่าการลดสัดส่วนรายได้นั้นไม่ถือเป็นการเอาเปรียบกทพ. และองค์กรไม่ได้เสียหาย และสิ่งสำคัญที่สุดคือ ต้องเอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย

กระทรวงคมนาคม

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : คมนาคมปิ๊ง! ลดค่าทางด่วนช่วยประชาชน