EXIM BANK เตรียม 5 พันล้าน ลุยเปิดโครงการ “EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” วางเป้าสร้าง SMEs ไทยให้แข็งแกร่ง เพื่อก้าวสู่ตลาดโลก



  • เผยเตรียมวงเงินไว้ที่ 5 พันล้านบาท สนับสนุนให้ผู้ประกอบ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน
  • ชี้ทางผู้ประกอบ เจาะตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน จีน อินเดีย
  • ตั้งเป้าผลักดัน SMEs ไทย ส่งออกได้เพิ่มอีก 10,000 ราย จากการส่งเสริมคนตัวเล็ก

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ก.พ.66) ในโอกาสครบรอบ 29 ปี ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 30 ของการเปิดดำเนินงาน EXIM BANK ได้เปิดโครงการ “EXIM เพื่อคนตัวเล็ก” ซึ่งเป็นโครงการที่จะช่วยเหลือและเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจระหว่างประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา วิสาหกิจชุมชน หรือผู้ประกอบการSMEs ที่ทำธุรกิจเชื่อมโยงกับ Supply Chain การส่งออก 

ขณะนี้ ผู้ประกอบการ SMEs ถือเป็นรากแก้วของประเทศไทยที่มีจำนวนมากถึง 99.6% ของผู้ประกอบการไทยทั้งหมด สร้างการจ้างงานได้มากถึง 12.6 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วน 72% ของทั้งระบบ และมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ 35% ของจีดีพี

“วันนี้ EXIM BANK ได้หันมาให้ความสำคัญในการดูแลผู้ประกอบการตัวเล็กมากขึ้น จากเดิมที่จะเน้นไปที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ซึ่งการดำเนินครั้งนี้ ธนาคาาจะใช้เครื่องมือ 3 เติม ได้แก่ เติมความรู้ เติมโอกาส และเติมเงิน รวมถึงชูบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ดูแลให้คำปรึกษา พร้อมบ่มเพาะ สร้างโอกาส และเติมเงินทุนอย่างใกล้ชิดและครบวงจร” ดร.รักษ์ กล่าว

ดร.รักษ์ กล่าววว่า EXIM BANK เริ่มต้นจากการให้คำปรึกษาแนะนำ ทั้งทางออนไลน์และการสัญจรลงพื้นที่ แก้ไขปัญหาให้ธุรกิจระดับครัวเรือนและชุมชน หมายรวมถึงการแก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจ ซึ่งข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 พบว่า หนี้ภาคธุรกิจอยู่ในระดับกว่า 13.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งอยู่ที่ 11.4 ล้านล้านบาท

โดยวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ซ้ำเติมภาคธุรกิจยิ่งขึ้นไปอีก ทำให้ NPLs ของ SMEs ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2565 อยู่ในระดับสูงถึง 6.8% สวนทางกับ NPLs ของธุรกิจขนาดใหญ่ที่เริ่มลดลงมาอยู่ที่ 1.9% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก SMEs ไทยขายแต่ในประเทศเป็นหลัก ซึ่งเศรษฐกิจไทยมีขนาดเล็ก โตเฉลี่ย 10 ปีเพียง 2.3% หนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ระดับสูงถึง 88.2% ต่อ GDP ยิ่งบั่นทอนกำลังซื้อภายในประเทศขึ้นไปอีก 

นอกจากนี้ EXIM BANK มีโครงการอบรมบ่มเพาะความรู้และทักษะของผู้ประกอบการ ประกอบกับการพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ อาทิ แพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อเป็นช่องทางลัดให้ผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าสู่การค้าไร้พรมแดนได้โดยเร็ว ตลอดจนเครื่องมือทางการเงินที่หลากหลายและครบวงจร ทั้งสินเชื่อและบริการประกันการส่งออกเพื่อเสริมสภาพคล่องและคุ้มครองความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศให้ธุรกิจ SMEs ไทยเดินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด เติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน ท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งทางการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ

ดร.รักษ์ กล่าวว่า ภายใต้โครงการ EXIM เพื่อคนตัวเล็ก ธนาคารจะเร่งเดินหน้าปั้นคนตัวเล็กเป็นผู้ส่งออก อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งผลิตและจำหน่ายสินค้าในประเทศหรือจำหน่ายให้แก่ผู้ส่งออกอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยเริ่มต้นส่งออกเอง และกลุ่มผู้ส่งออกทางอ้อม (Indirect Exporters) อาทิ พ่อค้าแม่ค้าที่ขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ นอกจากจะสร้างรายได้จากการขายแล้ว ยังเป็นการสร้างพลัง Soft Power ให้สินค้าไทยเป็นที่รู้จักและนิยมในตลาดโลกมากขึ้นด้วย 

นอกจากนี้ ในระยะเวลาอันใกล้ EXIM BANK มีโครงการจะพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์ใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสให้คนตัวเล็กเข้าสู่ตลาดโลกได้มากขึ้น รวมทั้งเร่งใช้โมเดล “พี่จูงน้อง” เชื่อมโยง Supply Chain การค้าระหว่างประเทศ

“จากจุดยืนใหม่สู่บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง EXIM BANK วันนี้จึง Go the Extra Mile จัดทำโครงการที่ก้าวข้ามข้อจำกัด นอกเหนือจากภารกิจหน้าที่โดยตรง เป็นมากกว่าธนาคาร (Beyond Banking) รับฟังและแก้ไขปัญหาทางการเงินให้แก่ประชาชาชน กระตุ้นให้เกิดธุรกิจที่แข็งแรงพอจะเข้าร่วม Supply Chain การส่งออกได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับฐานรากให้แข็งแกร่ง สร้างมูลค่าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีคนตัวเล็กร่วมขับเคลื่อน” ดร.รักษ์ กล่าว

นอกจากนี้ ดร.รักษ์ กล่าวด้วยว่า ธนาคารจะมุ่งเป้าเข้าไปช่วยเหลือเอสเอ็มอี ด้วยการเติมเงินเติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มอาเซียน จีน อินเดีย ซึ่งธนาคารได้เตรียมวงเงินไว้ที่ 5,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 6% โดยเอสเอ็มอีนั้น จะต้องมีคำสั่งซื้อสินค้าชัดเจนแล้ว ก็สามารถมายื่นกู้เติมสภาพคล่องกับทางธนาคารได้

“ปัจจุบันกลุ่ม SMEs ของไทย มีประมาณ 3.17 ล้านราย ในจำนวนนี้สามารถส่งออกได้ 1% หรือ 30,000 รายเท่านั้นดังนั้นเป้าหมายปีนี้ EXIM BANK จะผลักดันให้ SMEs ส่งออกได้เพิ่มอีก 10,000 ราย จากการส่งเสริมคนตัวเล็ก เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุน โเยขณะนี้ก็มองเห็น SMEs หลายรายที่มีศักยภาพ สามารถส่งออกได้ ซึ่งก็จะพยายามส่งเสริมให้เครื่องมือกับเขา เช่น การประกันส่งออก การให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยง เรื่องค่าเงินบาท”

อย่างไรก็ตาม สำหรับสินค้าที่มีโอกาสในการส่งออกของไทยขณะนี้คือ สินค้าในกลุ่มเกษตรแปรรูป อาทิ ทุเรียนแช่แข็ง เป็นต้น โดยเป็นสินค้าที่ขายดีมากในตลาดจีน ซึ่งก็ได้มีการขายผ่านแพลตฟอร์มอาลีบาบา นอกจากนี้ ยังมีขนมเจลลี่ ที่ขายดีในตลาดกัมพูชา น้ำนมข้าว ที่ขายดีในตลาดอินเดีย

ทั้งนี้ โดยรวมสินค้าไทยขายดีมาดในกลุ่มอาเซียน ทั้งในประเทศเวียนนาม อินโดนิเซีย อีกทั้งในปีนี้ ตลาดอาเซียนเป็นตลาดที่เติบโตขยายตัวมาก เพราะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีกำลังซื้อมาก และนิยมสินค้าไทย ดังนั้นจึงเป็นถือเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการไทย ที่จะส่งออกสินค้าลุยเจาะตลาดอาเซียน