

- ฉุดรายได้หายกว่า 1,200 ล้านบาท
- สินเชื่อคงค้างเพิ่มขึ้นกว่า 20,027 ล้านบาท
- หนุนผู้ประกอบการส่งออกและลงทุนไปยังตลาดใหม่
นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยผลการดำเนินงานในรอบ 9 เดือนของปี 2563 (ม.ค.-ก.ย. 2563) ว่า ปัจจุบัน EXIM BANK มีสินเชื่อคงค้าง 129,771 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20,027 ล้านบาท หรือ 18.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น สินเชื่อเพื่อการค้า 34,836 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 94,935 ล้านบาท โดยการปล่อยสินเชื่อของ EXIM BANK ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ จำนวน 116,353 ล้านบาท ซึ่งเป็นปริมาณธุรกิจของเอสเอ็มอี (SMEs) จำนวน 40,284 ล้านบาท คิดเป็น 34.62%
“จากภาวะเศรษฐกิจไทยที่ถดถอยและกระทบต่อสภาพคล่องของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนก.ย.63 EXIM BANK มีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) 6.26% หรือคิดเป็น 8,120 ล้านบาท นอกจากนี้ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ทำให้ ณ สิ้นเดือนก.ย.63 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 13,565 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง”

สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่น ๆ เท่ากับ 1,758 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,271 ล้านบาท
“ผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองกว่า 1,700 ล้านบาท แสดงให้เห็นฐานะทางการเงินที่มั่นคงและแข็งแกร่งของธนาคาร อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และฟื้นฟูกิจการของลูกค้า ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย ธนาคารจำเป็นต้องเร่งขยายบริการทั้งทางการเงินและไม่ใช่การเงินให้แก่ลูกค้าตามความต้องการของแต่ละกิจการที่แตกต่างไป”
ส่วนการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายฐานการค้าและการลงทุนไปยังต่างประเทศในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2563 EXIM BANK มีวงเงินสนับสนุนสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวมทั้งสิ้น 94,835 ล้านบาท โดยเป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 55,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12,717 ล้านบาท หรือคิดเป็น 29.74% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นอกจากนี้ EXIM BANK ได้สนับสนุนผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยติดต่อไปยังลูกค้าทุกราย เพื่อสอบถามความต้องการของกิจการ และออกมาตรการช่วยเหลือ/เยียวยาลูกค้า ประกอบด้วยการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเวลา 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อทั้งระยะสั้นและระยะยาวกับ EXIM BANK ได้ขยายเงื่อนไขบริการประกันการส่งออก การสนับสนุนสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งสินเชื่อระยะยาวและสินเชื่อระยะสั้น อัตราดอกเบี้ยต่ำสุด 2% ต่อปี เพื่อนำไปใช้หมุนเวียนในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการส่งออกและลงทุนที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากโควิด-19
“EXIM BANK จะเน้นการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนไปยังตลาดใหม่ (New Frontiers) ซึ่งรวมถึงกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม) โดย ณ สิ้นเดือนก.ย. 2563 มีสินเชื่อคงค้างจำนวน 39,990 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,308 ล้านบาทหรือ 15.30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากเปิดสำนักงานผู้แทนของ EXIM BANK ในย่างกุ้ง เวียงจันทน์ และพนมเปญเมื่อปี 2560-2562 และปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสำนักงานผู้แทน EXIM BANK ในเวียดนาม”