

- พร้อมชูนโยบาย BCG สร้างระบบนิเวศสีเขียวจากองค์กรสู่โลก พร้อมมีแผนระดมทุนเพิ่มออกกรีนบอนด์ ซึ่งยังไม่ได้กำหนดวงเงิน
- เผยปี 65 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีได้กว่า 9.44 หมื่นล้านบาท
- ประเมินปี 66 เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ชี้ธนาคารโลกคาดการณ์จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ในปี 66 นี้ EXIM BANK วางเป้าหมายที่จะปล่อยสินเชื่อใหม่ 120,000 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 1,800 ล้านบาทโดยในปี 65 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อช่วยเอสเอ็มอีได้กว่า 9.44 หมื่นล้านบาท และมีกำไรสิทธิ 1,504 ล้านบาท รวมถึงตั้งเป้าหมายหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ระดับไม่เกิน 3% จากปี 65 ที่อยู่ในระดับ 2.90% เนื่องจากธนาคารมีการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตั้งเป้าหมายขายหนี้เสียปีละ 5,000 ล้านบาท
นายรักษ์ กล่าวต่อว่า สำหรับปี 66 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอลงชัดเจน ธนาคารโลก และ The Economist Intelligence Unit (EIU) หน่วยงานวิเคราะห์เศรษฐกิจชั้นนำของโลก ยังคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี เป็นผลจากปัญหาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะยังอยู่ในระดับสูงและดอกเบี้ยขาขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกไทย ซึ่งคาดว่าจะเติบโตได้สูงสุดเพียง 2% หรือชะลอกว่า 2 เท่าจากปีก่อนหน้าอันเนื่องจากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป ราคาสินค้าส่งออกเริ่มลดลง และเงินบาทผันผวนสูง ท่ามกลางปัจจัยท้าทายและความไม่แน่นอนในหลากหลายมิติ

“จากนี้โอกาสจึงเป็นของผู้ที่กล้าเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจไปยังตลาดที่มีศักยภาพและเหมาะกับสินค้า และบริการของธุรกิจ โดย EXIM BANK ในฐานะธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย พร้อมทำหน้าที่ Miracle Maker พัฒนาธุรกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในเวทีโลก ด้วยการส่งเสริมการบุกตลาดการค้าการลงทุนที่มีศักยภาพและยกระดับสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล โดยชูนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) เพื่อให้ผู้ประกอบการมุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่”
นายรักษ์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ธนาคารยังมีแผนระดมทุนเพิ่ม ผ่านการออกกรีนบอนด์ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดวงเงินโดยปีนี้ธนาคารจะได้รับเงินเพิ่มทุนจากรัฐบาลอีก 2,000 ล้านบาท โดยธนาคารตั้งเป้านเงินทุนดังกล่าวมาปล่อยกู้ให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่เน้นปรับธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจสีเขียว รวมถึงธนาคารจะปล่อยสินเชื่อร่วมกับแบงก์รัฐแห่งอื่น ยกตัวอย่างหากผู้ประกอบการต้องการเงินกู้ 40 ล้านบาท สามารถไปขอที่เอสเอ็มอีแบงก์ หรือไอแบงก์ ในจำนวน 20 ล้านบาท ส่วนที่เหลือสามารถมาขอที่ EXIM BANK ได้ หรือหากสินทรัพย์ไม่พอ บสย. ก็จะเข้าไปช่วยค้ำประกันต่อ

นายรักษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ในปี 65 ต้องกล่าวว่าสามารถเติบโตที่ระดับสองหลัก โดยมียอดคงค้างสินเชื่อ 168,331 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15,558 ล้านบาท หรือ 10.18% จากปีก่อนหน้า เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานในปี 37 ทั้งนี้ อัตราการเติบโตดังกล่าวสูงกว่าระบบธนาคารถึง 2 เท่า
รวมถึงธนาคารมีวงเงินอนุมัติสินเชื่อใหม่ 94,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 19.21% จากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นการเติบโตระดับสองหลักทั้งในภาพรวม และเพิ่มขึ้นถึง 17.91% ในกลุ่ม SMEs ซึ่งเป็นโตระดับสองหลักเช่นเดียวกัน ในส่วนยอดคงค้างสินเชื่อที่สนับสนุนความยั่งยืน 47,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 21.83% จากปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนเกือบ30% ของยอดคงค้างสินเชื่อทั้งหมด เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกัน 169,338 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 10.34% จากปีก่อน เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และสูงสุดตั้งแต่เปิดดำเนินงานมา

ส่วนด้านสินเชื่อจำนวนลูกค้าทั้งด้านสินเชื่อและรับประกันมี 6,102 ราย เพิ่มขึ้นสูงถึง 24.00% จากปีก่อนหน้า เติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี อีกทั้งยังถือเป็นผลงานการเติบโตที่มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้กว่า 2 เท่า ทั้งนี้ ณ สิ้นปี 65 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการกว่า 21,000 ราย วงเงินรวมกว่า 90,000 ล้านบาท
ในส่วน NPL Ratio ของธนาคารอยู่ที่ 2.90% เป็นอัตราที่ต่ำกว่าเป้าหมายและต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ต่อเนื่อง 2 ปี และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 12,821 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งคิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) 262.99%

จากความมุ่งมั่นในการดำเนินงานขยายธุรกิจ ส่งผลให้ EXIM BANK มีกำไรจากการดำเนินงาน 2,737 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 14.51% ถือเป็นการเติบโตสองหลักต่อเนื่อง 2 ปี และมีกำไรสุทธิ 1,504 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับที่มากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 แม้จะมีการช่วยเหลือลูกค้าด้วยการตรึงดอกเบี้ย Prime Rate มานานกว่า 6 เดือน ต่อเนื่องถึงสิ้นเดือน ม.ค.66 นี้ก็ตาม