EXIM BANK มั่นใจการส่งออกไทยยังแข็งแกร่งกว่าประเทศคู่แข่ง



  • คาดได้อานิสงส์จากโควิด-19 ระบาดในจีน
  • ชี้สินค้าอุปโภคบริโภคไทยยังขายดี
  • ผู้ส่งออกไทยปรับตัวรับมือกับความผันผวนได้ดีขึ้น

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK)  เปิดเผยว่า  การส่งออกไทยยังแข็งแกร่งกว่าประเทศคู่แข่งหลายประเทศ สะท้อนจากตัวเลขการการส่งออกของไทยเดือนม.ค.2563 ที่ขยายตัวถึง 3.4% ในขณะที่ประเทศในแถบเอเชียในเดือนม.ค.63 การส่งออกหดตัวต่อเนื่องจากปี 2562  อาทิ ญี่ปุ่น ส่งออกติดลบ 3.3%  เกาหลีใต้ การส่งออกติดลบ 6.1%  ไต้หวัน ส่งออกติดลบ 7.6%  อินโดนีเซียส่งออกติบลบ3.7%  และเวียดนาม ส่งออกติดลบ 17.4% อย่างไรก็ตามแม้การส่งออกของไทยในเดือนม.ค.จะได้อานิสงส์จากการส่งออกทองคำที่ขยายตัวถึง 300% แต่หากหักทองคำแล้ว การส่งออกของไทยจะหดตัวเพียง 1.5% ซึ่งถือว่าหดตัวน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง

สำหรับสินค้าไทยยังมีโอกาสเข้าไปแทนสินค้าจีนได้ต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ที่สินค้าไทยได้เปรียบสินค้าจีนจากแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า สะท้อนได้จากการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2562 และเดือนม.ค. 2563 ขยายตัว 11.8%และ 9.9% ตามลำดับ ส่วนในระยะถัดไปอาจได้อานิสงส์เพิ่มเติมหลังจีนเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19(COVID-19) ที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและระบบขนส่ง หรือ โลจิสติกส์ของจีนบางส่วน

 “สินค้าไทยมีความหลากหลายและมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่แม้เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้ากลุ่มดังกล่าวเป็นสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน และยังเป็นที่ต้องการในตลาดโลก อาทิ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขยายตัว 26.2% ไก่แปรรูป –ขยายตัว 4.9% เครื่องดื่ม ขยายตัว 2.8% เครื่องสำอางและสบู่ ขยายตัว 13.8% เครื่องปรุงรส ขยายตัว 15.7% รวมถึงเครื่องปรับอากาศ ขยายตัว 25% เนื่องจากได้รับผลดีจากภาวะโลกร้อน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามผลกระทบจากสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน เริ่มเบาบางลง สะท้อนได้จากกลุ่มสินค้าที่อยู่ในระบบของจีนที่ก่อนหน้านี้ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าเป็นอย่างมาก กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้งในเดือนม.ค. 2563 อาทิ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น

“แม้การส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 จะยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงอยู่มาก ทั้งยังไม่สามารถประเมินผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ได้ชัดเจน แต่ตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านมาก็สะท้อนได้ว่า การส่งออกของไทยมีความยืดหยุ่นมากขึ้นกว่าอดีต อีกทั้งผู้ส่งออกไทยเริ่มปรับตัวรับมือกับความผันผวนได้ดีขึ้นผ่านการพัฒนาสินค้าและการหาตลาดใหม่ ๆ ซึ่งธนาคารพร้อมเป็นพี่เลี้ยงให้ผู้ส่งออกทั้งด้านข้อมูล บริการทางการเงิน และเครื่องมือป้องกันความเสี่ยง เพื่อช่วยผลักดันให้การส่งออกของไทยปี 2563 กลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง”