

คิง เพาเวอร์ – ธนานันท์ ขอเป็นผู้นำจำหน่ายไวน์ ร่วมสร้างประเทศไทยเป็น Hub ไวน์ดี ราคาเหมาะสม
- กดภาษีสรรพสามิตต่ำเหลือขวดละ 100 บาท
- เปิดโอกาสเจ้าของ wine cellar มอบตัวชิลๆ
- “ปลัดคลัง”ย้ำ มี.ค.ไวน์ทุกขวดต้องมีแสตมป์
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ในเดือนมีนาคมนี้ กระทรวงการคลังมีกำหนดปรับเปลี่ยนเกณฑ์การจัดเก็บภาษีการนำเข้าไวน์จากต่างประเทศใหม่ โดยให้กรมสรรพสามิต เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการจัดเก็บภาษีแต่เพียงหน่วยงานเดียว ส่วนกรมศุลกากร ให้ดำเนินการตามหน้าที่อื่นไป
หลักเกณฑ์การอนุญาตนำเข้าไวน์ใหม่ในกรณีของบุคคลธรรมดา ซึ่งอาจเดินทางไปท่องเที่ยว หรือไปทำธุรกิจอื่นใดในต่างประเทศ แล้วเห็นว่ามีไวน์ดี อนุญาตให้นำไวน์จากประเทศนั้นๆเข้ามาในราชอาณาจักรได้ 10 ลัง หรือประมาณ 10 ลิตรต่อคน โดยเสียภาษีสรรพสามิตในอัตราขวดละ 100 บาท บวก 5% ของมูลค่าไวน์ที่นำเข้ามา
“ใครที่อยากรู้ราคาไวน์ เพื่อนำไปคำนวณอัตราการเสียภาษี สามารถเข้าไปที่เว็บของกรมสรรพสามิตเพื่อตรวจสอบบัญชีรายการไวน์จากทั่วโลก และหลากยี่ห้อได้ที่เว็บนี้ เพราะกรมสรรพสามิตทำการเก็บรวบรวมข้อมูลไว้กว่าแสนรายการ”

ส่วนพวกที่เป็นเอเยนต์นำเข้าจะเป็นรายใหญ่ หรือ รายเล็ก ให้เข้าไปในเว็บกรมสรรพสามิตเช่นกัน โดยแจ้งว่าจะนำเข้าไวน์ชื่อยี่ห้อใด จากประเทศใด ในราคาเท่าใด เปรียบเทียบกับราคาที่กรมสรรพสามิตกำหนด จากนั้นให้คำนวนอัตราการเสียภาษี ซึ่งกระทรวงการคลังกำหนดให้จัดเก็บในอัตราเดียวกันกับบุคคลธรรมดาคือ 100 บาท บวก 5% ของราคาไวน์
จากนั้นให้ผู้ประสงค์นำเข้า เสียภาษีให้เสร็จเรียบร้อย พร้อมแจ้งว่า จะขนส่งไวน์มาทางใด ทางเครื่องบิน หรือ เรือสินค้า และมีกำหนดจะถึงประเทศไทยวันเวลาใด ที่ไหน เช่นที่ สนามบินสุวรรณภูมิ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือคลองเตย หรือที่ใด ทั้งนี้เพื่อให้กรมสรรพสามิตทราบชัดเจนว่า จะจัดส่งแสตมป์ไปไว้ ณ สถานที่ใดเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมติดแสตมป์ให้เรียบร้อย
“ต่อไปนี้ เราจะควบคุมไวน์ด้วยการไปควบคุมที่ร้านอาหาร และโรงแรม ใครถือไวน์ไม่มีแสตมป์เข้าไป ถือว่าผิดกฏหมาย และถ้าร้านอาหารใดแม้แต่ในโรงแรมหรูกี่ดาวก็ตาม ยอมเปิดขวดให้ ก็ต้องถือเป็นความผิดร่วม” ปลัดกระทรวงการคลัง สำทับ
นายลวรณ กล่าวด้วยว่า การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีไวน์ครั้งนี้ เป็นไปเพื่อให้ไวน์ที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร และซื้อขายกันอยู่ใต้ดิน ขึ้นมาทำธุรกิจบนดิน และเสียภาษีให้ถูกต้อง ซึ่งน่าจะทำให้รัฐจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เก็บได้เพียงปีละ 1,500 ล้านบาท หรือบางปีต่ำกว่านั้น ในขณะที่สุรา เสียภาษีอยู่ปีละ 80,000 ล้านบาท และเบียร์เสียภาษีอยู่กว่า 20,000 ล้านบาท
“เดิมภาษีสรรพสามิต และ ภาษีนำเข้ารวมกัน จัดเก็บในอัตรา 80% ของมูลค่าไวน์ แต่เมื่ออัตราภาษีที่รัฐจัดเก็บต่ำลงมาก กระทรวงการคลังก็คาดหวังว่า ประเทศไทย จะสามารถเป็น Hub ของไวน์ชั้นดี ราคาเหมาะสมได้ เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก ก็อยากให้สามารถดื่มไวน์ดีๆ หรือนำกลับบ้านได้ด้วย”
สำหรับผู้ค้ารายใหญ่ของประเทศไทย คือ นายธนานันท์ วิไลลักษณ์ ได้เข้ามาแสดงรายการนำเข้าไวน์ พร้อมให้ข้อมูลด้านราคาที่สามารถใช้เป็นมาตรฐานการคำนวณราคาที่เป็นจริงกับกระทรวงการคลังแล้ว
ส่วน คิง เพาเวอร์ ซึ่งวางขายไวน์เป็นสินค้าปลอดภาษีปกติ ก็เข้ามาขออนุญาตเป็นผู้ขายไวน์ในประเทศด้วยแล้ว เพื่อให้นโยบายรัฐบาล และ กระทรวงการคลังที่ต้องการจะให้ประเทศไทยเป็น Hub ของ ไวน์ ประสบความสำเร็จ
ปลัดลวรณ กล่าวด้วยว่า พวกพี่ๆเพื่อนๆที่เก็บสะสมไวน์ไว้เป็น Collection หรือ ที่บ้านมี wine cellar เป็นของตัวเอง ถ้าจะดื่มกันในหมู่เพื่อนฝูงที่บ้าน ไม่มีปัญหา แต่ถ้าถือออกไป Chill out ข้างนอกไม่มีแสตมป์ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป มีปัญหา “เราอาจจะต้องยอมออกพรบ.นิรโทษกรรมให้ แต่ให้แค่ไวน์เท่านั้นนะครับ”