สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เผยผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศ ปี 2567 โดย World Competitiveness Center ของ IMD สวิตเซอร์แลนด์ พบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 37 จาก 67 เขตเศรษฐกิจ ลดลง 2 อันดับจากปีก่อน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยี ซึ่งลดลง 8 อันดับ มาอยู่ที่อันดับ 23 แม้ยังเป็นจุดแข็งที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ด้านความรู้ และด้านความพร้อมสำหรับอนาคต ขยับขึ้นมาเล็กน้อย อยู่ในอันดับ 40 และ 41 แต่ยังต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการแข่งขันด้านดิจิทัลในระยะยาว
วิธีการจัดอันดับ
IMD ใช้ 3 ปัจจัยหลักในการประเมินจัดอันดับ ได้แก่
- เทคโนโลยี (Technology): ความสามารถในการพัฒนาและปรับใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น การจดสิทธิบัตรเทคโนโลยีขั้นสูงและการใช้งาน e-governance
- ความรู้ (Knowledge): การลงทุนในระบบการศึกษา การวิจัย และการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล
- ความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Readiness): ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของบุคลากร ธุรกิจ และนโยบายสังคม
และในปีนี้ IMD ได้เพิ่มตัวชี้วัดด้านดิจิทัลใหม่ 5 รายการ
- การศึกษาด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์
- บทความด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI)
- กฎหมายเกี่ยวกับ AI
- ความปลอดภัยทางไซเบอร์
- ความยืดหยุ่นและในการปรับตัว
ผลจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารเกี่ยวกับการปรับตัวของบุคคลากร เมื่อเจอความท้าทายใหม่
เปรียบเทียบในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน
- ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย ขณะที่อินโดนีเซียมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนฟิลิปปินส์อยู่อันดับ 61
แนวทางยกระดับความสามารถ
นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธานศูนย์เพื่อการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน TMA ชี้ว่า ไทยต้องเร่งพัฒนาในหลายด้าน ได้แก่
- พัฒนาการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ และยกระดับตัวชี้วัดด้านการศึกษา
- ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา AI เชิงพาณิชย์
- ปรับปรุงนโยบายและกฎหมายเกี่ยวกับ AI ให้ทันสมัย
- เพิ่มการจ้างงานบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค
- พัฒนากฎหมายเกี่ยวกับแรงงานต่างชาติ สิทธิบัตร การวิจัย ลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล
สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : IMD เปิดผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2564 ไทยอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 64 เขตเศรษฐกิจ