คลัง จ่อชงแก้หนี้เอสเอ็มอีรหัส 21-สินเชื่อสู้ภัยโควิด เข้า ครม. 12 ธ.ค.นี้

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท

กระทรวงการคลัง เตรียมชงแก้หนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 ลูกหนี้สินเชื่อสู้ภัยโควิด เข้าที่ประชุม ครม. 12 ธ.ค.นี้ ช่วยปลดแอกหลุดพ้นจากเอ็นพีแอล

  • มีแผนพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี
  • มีลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ
  • รับการแก้หนี้ พักหนี้ทุกรูปแบบ มีโอกาสเสี่ยงเกิด Moral Hazard ทั้งหมด

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 ธ.ค.66 กระทรวงการคลังเตรียมจะเสนอมาตรการพักหนี้เพิ่มเติมในกลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 และสินเชื่อสู้ภัยโควิด-19 ที่ดำเนินการผ่านธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยสำหรับหนี้ในกลุ่มเอสเอ็มอี รหัส 21 จะดูแลในส่วนที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินของรัฐ ซึ่งมีจำนวน 50,000-60,000 ราย หรือคิดเป็นจำนวน 99.5% ของลูกหนี้ทั้งหมดของเอสเอ็มอี รหัส 21 โดยจะมีการพักชำระหนี้วงเงินไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อราย เป็นเวลา 1 ปี และลดอัตราดอกเบี้ยให้เป็นกรณีพิเศษ

ขณะที่ลูกหนี้เอสเอ็มอี รหัส 21 ที่อยู่ในธนาคารพาณิชย์ จะเป็นชุดมาตรการแก้หนี้ในระบบ ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง จะดำเนินการแถลงในวันที่ 12 ธ.ค.66 นี้

นายจุลพันธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสินเชื่อฉุกเฉินโควิด 10,000 บาท ปัจจุบันพบว่า มีลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลแล้วกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกลไกที่รัฐบาลช่วยไม่ได้สร้างความเสียหายต่อรัฐเพิ่มเติม เนื่องจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ได้มีมติเห็นชอบในการกันวงเงินเพื่อชดเชยความเสียหายไว้แล้วที่ 50% ของวงเงินทั้งหมด ที่มูลค่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งก็จะนำเงินส่วนนี้มาชดเชยแทนลูกหนี้ที่เป็นแอลพีแอลไปแล้ว โดยนอกจากจะช่วยแบงก์รัฐแล้ว ยังเป็นการช่วยลูกหนี้กว่า 1 ล้านรายให้ไม่ต้องติดสถานะลูกหนี้เอ็นพีแอลอีกด้วย

“ในส่วนนี้มีลูกหนี้หลายคนที่เข้าใจผิด คิดว่าสินเชื่อฉุกเฉินดังกล่าว เป็นมาตรการแจกเงินช่วยเหลือของรัฐ ทำให้ตนเองตกกลายเป็นลูกหนี้เอ็นพีแอลโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นรัฐบาลจึงพยายามเข้าไปช่วยเพื่อให้ลูกหนี้เกล่านี้ กลับมาสู่สถานะปกติ” นายจุลพันธ์

นายจุลพันธ์ กล่าวด้วยว่า มีหลายคนก็กังวลว่ากรณีนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมการไม่ใช้คืนหนี้หรือไม่ หรือ Moral Hazard ก็ต้องยอมรับว่า การแก้หนี้ พักหนี้ทุกรูปแบบ มีโอกาสเสี่ยงเกิด Moral Hazard ทั้งหมด แต่ประเด็นวันนี้คือ รัฐบาลต้องการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจ รวมถึงดึงคนกลุ่มดังกล่าวกลับมาเดินหน้าประกอบอาชีพได้

ขณะที่ กลุ่มคนที่เป็นลูกหนี้ชั้นดี ที่ผ่อนครบถ้วน ก็อาจมีรางวัล โดยทางแบงก์รัฐที่เป็นเจ้าหนี้ ก็จะให้สิทธิพิเศษ อาทิ ลดดอกเบี้ยให้พิเศษ หรือเพิ่มวงเงินกู้ ขณะเดียวกัน ประชาชนที่รัฐบาลช่วยให้หลุดพ้นมาจากหนี้เอ็นพีแอล ถึงแม้จะถูกช่วยจากรัฐบาลให้กลับมาปกติ หากจะกลับมาขอสินเชื่อจากระบบธนาคาร ก็ต้องถูกพิจารณาในเกณฑ์ของธนาคารตามปกติเช่นกัน ซึ่งอาจจะยากกว่าคนที่เคยผ่อนหมดก็เป็นได้