บางกอกแอร์ปี’66 กำไรโต 442% โกยรายได้ขายตั๋ว 1.4 หมื่นล้าน

บางกอกแอร์เวย์สปลื้มปี’66 กำไรโต 442.4% กวาดรายได้รวม 21,732.5 ล้านบาท ฟื้นผู้โดยสารกลับมาได้ 3.97 ล้านคน โชว์ฝีมือทำ 3 กลยุทธ์ ขานรับการเดินทางในและต่างประเทศโต

  • บางกอกแอร์เวย์สผลดำเนินการปี’66 โกยรายได้หลักขายตั๋วเครื่องบิน 14,913.8 ล้านบาท
  • เน้นทำโค้ดแชร์ 28 แอร์ไลน์ส ช่วยกันขายตั๋วบินเชื่อมต่อได้ทั่วเอเชีย
  • รุกใช้ 3 กลยุทธ์ “เพิ่มความถี่-เปิดเส้นทางบินใหม่-ผนึกเครือข่ายพันธมิตร”

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ได้นำสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส หรือ “BA” ประกาศผลการดำเนินงานปี 2566 รายได้รวม 21,732.5 ล้านบาท กำไรสุทธิ 3,180.4 ล้านบาท เติบโต 442.4% และมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร 3.97 ล้านคน รวมถึงแผนเพิ่มความถี่เที่ยวบินเพื่อรองรับเส้นทางที่มีแนวโน้มความต้องการเดินทางสูง ไป-กลับ กรุงเทพ สมุย ภูเก็ต และสมุย-สิงคโปร์ และมีสายการบินร่วมทำบินร่วมตามตกลง Code Share Agreement 28 สายการบิน

บางกอกแอร์เวย์สมีกำไรและรายได้ปี 2566 เติบโตดี เป็นผลมาจากอุตสาหกรรมการบินโลกไตรมาส 4 ปี 2566 ฟื้นตัวต่อเนื่องกลุ่มธุรกิจบริการอากาศยานจึงเติบโตสูงขึ้นจากปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger Kilometer: RPK) ในเอเชีย แปชิฟิก เติบโตมากที่สุดเฉลี่ย 77.2% จากปัจจัยหนุนต่าง ๆ เช่น รัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายวันหยุดยาวและช่วงเทศกาลต่าง ๆ

ปี 2566 บางกอกแอร์เวย์สจึงเติบโตเป็นบวก พลิกฟื้น “รายได้รวม” กลับมาได้รวม 21,732.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 70.06% เทียบกับปี 2565 รายได้ส่วนใหญ่มาจากตั๋วโดยสาร 68.6% คิดเป็น 14,913.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76.5% จากยอดผู้โดยสารที่ใช้บริการบางกอกแอร์เวย์สเติบโตขึ้น ทำราคาตั๋วโดยสารได้เฉลี่ย 3,756 บาท

โดยมี “กำไร” จากการดำเนินงาน 3,044.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,934 ล้านบาท มีรายได้จากการขายและบริการตามสัดส่วนของรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสนามบิน 4,269.5 ล้านบาท เป็นกำไรส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทฯ 3,110 ล้านบาท มีผลกำไรต่อหุ้น1.49 บาท ส่วน “ค่าใช้จ่าย” รวมเท่ากับ 18,646.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35.4% กปี 2565 ส่วนใหญ่เพิ่มจากต้นทุนขายเป็นหลัก

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่าตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นมาได้ปรับเพิ่มใหม่อีก 3 กลยุทธ์ คือ กลยุทธ์ที่ 1 เพิ่มความถี่เที่ยวบินรองรับปริมาณนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติเดินทางเพิ่มขึ้นในเส้นทางที่มีความต้องการสูง ไฮไลต์ 4 เส้นทางเช่น กรุงเทพ – สมุย กรุงเทพ-ภูเก็ต ภูเก็ต-สมุย และสมุย-สิงคโปร์ กลยุทธ์ที่ 2 เปิดบริการเส้นทางบินใหม่เพิ่มได้แก่ ลำปาง – แม่ฮ่องสอน และ สมุย – ดอนเมือง ทำให้ปี 2566 มีปริมาณการขนส่งผู้โดยสารขยับเป็น 3.97 ล้านคน เพิ่มสูงขึ้น 49.5% เทียบปี 2565 ฟื้นตัวจากโควิด 67.7% โดยเฉพาะการขายตั๋วผ่านเว็บไซต์ได้รับความนิยมผู้โดยสารส่วนใหญ่ซื้อตั๋วโดยสาร (Point-of-Sale) และซื้อตรงจากบริษัท 44% ซึ่งเป็นผู้โดยสารจากทวีปยุโรป 19% ของผู้โดยสารทั้งหมด ส่งผลให้มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสาร (Load Factor) 79.2%

กลยุทธ์ที่ 3 เสริมศักยภาพและโอกาสด้วยวิธีทำสัญญาความตกลงเที่ยวบินร่วมกับสายการบิน (Code share Agreement) กับสิงคโปร์แอร์ไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้โดยสารของทั้งสองสายการบินเดินทางเชื่อมต่อสู่ปลายทางยอดนิยมทั้งในไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ปัจจุบันมีสายการบินทำโค้ดแชร์กับบางกอก แอร์เวย์ส 28 สายการบิน ล่าสุดประกาศ ข้อตกลงโค้ดแชร์ร่วมกับแอร์อินเดีย บริการขนส่งผู้โดยสารกระเป๋าสัมภาระ และตั๋วโดยสาร

ปัจจุบันบางกอกแอร์เวย์สบริษัทมีเครื่องบินให้บริการขนส่งผู้โดยสาร 24 ลำ ปี 2567 วางแผนจัดการบริหารฝูงบินให้สอดคล้องกับอุปสงค์การเดินทางของนักท่องเที่ยวตลอดทั้งไฮซีซั่นและโลว์ซีซัน ทำอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยการบินช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างเข้มแข็งตลอดปีนี้ -เรื่องโดยเพ็ญรุ่ง ใยสามเสน