

“สุดาวรรณ” ยิ้มร่า ครม.สัญจร ผ่านฉลุยร่างเอกสาร 6 ฉบับ มอบกระทรวงท่องเที่ยวหารือที่ประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 27 ช่วง 25 -26 มกราคม 2567 ที่ สปป.ลาว ทุกฉบับมุ่งสู่นโยบายฟื้นฟูและส่งเสริมท่องเที่ยวระหว่างประเทศร่วมกัน
- ก.ท่องเที่ยวได้ไฟเขียว ครม.สัญจร นำร่างฟื้นฟูท่องเที่ยว 6 ฉบับร่วมหารือเวทีรมว.อาเซียน
- จับตา!! ไทยผนึกอาเซียนรุกท่องเที่ยวยั่งยืน และอาเซียนพลัส จีน ญี่ปุ่น เกาหลี รัสเซีย
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) จ.ระนอง มีมติเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬานำเสนอเอกสาร 6 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 27 และการประชุมระดับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 25 -26 มกราคม 2567 ที่กรุงเวียงจันทร์ สปป.ลาว โดยได้อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายร่วมรับรองร่างเอกสารผลสำคัญของการประชุมและหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงเอกสาร ผลลัพธ์ดังกล่าว ในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทยขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาดำเนินการได้โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.
โดยมีเอกสารที่จะนำเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนครั้งที่ 27 ทั้ง 6 ฉบับ ประกอบด้วย
ฉบับที่ 1 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน ครั้งที่ 27 มีเนื้อหาจะฟื้นฟูและส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ภายใต้หัวข้อหลัก “การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพและมีความรับผิดชอบ – มุ่งสู่อนาคตอาเซียนที่ยั่งยืน (Quality and Responsible Tourism – Sustaining ASEAN Future)” โดยมุ่งน้นยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวอาเซียนควบคู่ไปกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและครอบคลุม เช่น การประชาสัมพันธ์การตลาดท่องเที่ยวในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ imaginASEAN และแคมเปญฟื้นฟูการท่องเที่ยวในอาเซียน
ฉบับที่ 2 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนบวกสาม ครั้งที่ 23 มีเนื้อหามุ่งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน และ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ผ่านกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและยกระดับศักยภาพการท่องเที่ยวสู่ความยั่งยืนควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ทำการตลาดท่องเที่ยวและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลภาคการท่องเที่ยว เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถและแนวทางการทำธุรกิจใหม่ ๆ

ฉบับที่ 3 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ครั้งที่ 11มีเนื้อหาสนับสนุนการส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวอาเซียน – อินเดีย ในการบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ เพื่อรับมือกับผลกระทบของวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด –19 ต่อภาคการท่องเที่ยวในทุกมิติ การสื่อสารในภาวะวิกฤตด้านการท่องเที่ยวอาเซียน และการแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติการท่องเที่ยว และมุ่งเน้นการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียนและอินเดีย ทั้งทางบกทางน้ำและทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเรือสำราญ
ฉบับที่ 4 ร่างถ้อยแถลงข่าวร่วมการประชุมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน – รัสเซีย ครั้งที่ 3 มีเนื้อหาในการยกระดับบทบาทของภาคการท่องเที่ยว ในฐานะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้กับสังคมและประชาชนท้องถิ่นควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย ผ่านการทำกิจกรรมการตลาดประชาสัมพันธ์จุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและมีการเยี่ยมเยือนต่ำ ควบคู่ไปกับการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการท่องเที่ยวของอาเซียนและรัสเซีย และการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับวิสาหกิจของทั้งสองประเทศ
ฉบับที่ 5 ร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างอาเซียน และองค์การการท่องเที่ยวโลก (UNWTO)เพื่อยกระดับความร่วมมือรวมถึงกำหนดประเด็นที่สนใจร่วมกัน เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินโครงการซึ่งนำไปสู่การพัฒนาความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวและอื่น ๆ เช่น การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และข้อมูล การสนับสนุนด้านเทคนิค และการสร้างขีดความสามารถสำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยว
ฉบับที่ 6 ร่างแผนปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของอาเซียน เป็นแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับภูมิภาคอาเซียน มีประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในอาเซียน รวมถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรม การปรับปรุงมาตรฐานอุตสาหกรรมการส่งเสริมนวัตกรรม รวมถึงการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน -เรื่องโดย เพ็ญรุ่ง ใยสามเสน